บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ - ๓. บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา (ภาวนามัย ) 

คือการอบรมจิตใจในการละกิเลส ตั้งแต่ขั้นหยาบไป จนถึงกิเลสอย่างละเอียด ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้สมาธิปัญญา รู้ทางเจริญและทางเสื่อม จนเข้าใจอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด 

" ภาวนา " แปลว่า การทำให้มีขึ้น ทำให้เกิดขึ้น ได้แก่ การฝึกอบรมจิตใจให้เกิดความสงบ ขั้นสมาธิและปัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงข้อปฏิบัติไว้ ๒ ประการ คือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

สมถภาวนา คือ การฝึกอบรมจิตใจให้เกิด ความสงบ จนตั้งมั่น เป็นสมาธิ อารมณ์ อันเป็นที่ตั้ง แห่งการเจริญ สมถภาวนา ชื่อว่า กรรมฐาน มี ๔๐ ประเภท คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อรูป ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา และจตุธาตุววัฏฐาน(รายละเอียดในวิสุทิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒)

วิปัสสนาภาวนา คือ การฝึกอบรม เจริญปัญญา ให้เกิดความ รู้แจ้งใน สภาพธรรมที่ เป็นจริง ตามสภาพ ของไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กรรมฐาน อันเป็น ที่ตั้ง ของการ เจริญ วิปัสสนา ภาวนาได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจจ ๔ และปฏิจจสมุปบาท ๑๒

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้ว่า หนทางปฏิบัติ เพื่อการ เข้าไป รู้แจ้งลักษณ์ ของ สภาพธรรมทั้ง ๖ ประการ นี้ มีเพียง ทางเดียว ที่จะนำไปสู่ พระนิพพานได้ ทางสายเอกนั้นได้แก่ สติปัฏฐาน ๔
- กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การพิจารณาเห็นกายในกาย มี ๑๔ ข้อ
- เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การพิจารณาเห็นเวทนาในเสทนา มี ๙ ข้อ
- จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การพิจารณาเห็นจิตในจิต มี ๑๖ ข้อ 
- ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มี ๕ ข้อ

สำหรับ การเจริญภาวนา ในขั้น บุญกิริยาวัตถุ นี้ โดยทั่วไป ท่านหมายเอาเพียง มหากุศลธรรมดา แต่หากว่าผู้ใด ได้ศึกษา ข้อปฏิยัติ ให้มีความเข้าใจ ก่อนลงมือปฏิบัติ แล้วพากเพียรปฏิบัติ ให้ถูกต้อง ตามแนวทาง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้ ก็สามารถเป็นบันได ให้ก้าวไปถึงฌาน หรือมรรคผลได้

(รายละเอียดในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร ข้อ ๑๓๑ - ๑๕๒ และทีฆนิกาย มหาวรรค สติปัฏฐานสูตร ข้อ ๒๗๓ - ๓๐๐)
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้แนะนำให้พระราหุลเจริญภาวนาหกประการดังที่ปรากฎในมหาราหุโลวาทสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (13/145/114) ความว่า “ดูกรราหุล 
เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่จักละ "พยาบาท" ได้ 
เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละ "วิหิงสา" ได้ 
เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละ "อคติ" ได้ 
เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละ "ปฏิฆะ" ได้
เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละ "ราคะ" ได้ 
เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละ "อัสมิมานะ" ได้

บุญที่สำเร็จได้ด้วยการเจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ย่อมต้องได้รับอานิสงส์ ดังนี้
๑) มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม
๒) มีผิวพรรณผ่องใส
๓) มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
๔) มีความจำดี และกำลังปัญญาว่องไว
๕) เป็นคนใจคอเยือกเย็น
๖) เป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็น
๗) มีบุคลิกอันน่าศรัทธา
๘) เกิดในตระกูลดี
๙) มีบุคลิกสง่างาม
๑๐) มีมิตรสหายมาก
๑๑) เป็นที่เคารพยำเกรงของคนทั่วไป
๑๒) เป็นที่ชื่นชอบของบัณฑิต
๑๓) สมบูรณ์ด้วยปัจจัย ๔
๑๔) ปราศจากอกุศลทั้งปวง
๑๕) ปลอดภัยจากศาสตราวุธ
๑๖) มีอายุยืน
๑๗) ตายแล้วเกิดในสุคติภูมิ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทางสายกลาง

อุปสรรคของสมาธิ

หลวงปู่มั่นเล่าเรื่องพระธาตุพนม