หลวงปู่ดู่สอนธรรม




ใช้ชีวิตเรียบง่าย
.....................
ในด้านอื่นๆ นั้น หลวงปู่ยังเป็นแบบอย่างของผู้มักน้อยสันโดษ ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่นิยมความหรูหราฟุ่มเฟือย แม้แต่การสรงน้ำ ท่านก็ยังไม่เคยใช้สบู่เลย แต่พระที่อุปัฏฐากท่านอยู่เล่าให้ฟังว่า ไม่พบว่าท่านมีกลิ่นตัว แม้ในห้องที่ท่านจำวัด มีผู้ปวารณาจะถวายเครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับท่าน ซึ่งส่วนใหญ่ท่านจะปฏิเสธ คงรับไว้บ้างเท่าที่เห็นว่าไม่เกินเลย อันจะเสียสมณสารูป และใช้สอยพอให้ผู้ถวายได้เกิดความปลื้มปิติที่ได้ถวายทานแก่ท่าน ซึ่งในภายหลัง ท่านก็มักยกให้เป็นของสงฆ์ส่วนรวม เช่นเดียวกับข้าวของต่างๆ ที่มีผู้มาถวายเป็นสังฆทานโดยผ่านท่าน และเมื่อถึงเวลาเหมาะควร ท่านก็จะระบายออก โดยจัดสรรไปให้วัดต่างๆ ที่อยู่ในชนบทและยังขาดแคลนอยู่

หลวงปู่ดู่ท่านพูดหลายครั้งว่า ท่านเป็นพระบ้านนอก ไม่มีความรู้อะไร เวลาพูดจาสนทนากับลูกศิษย์ก็พูดกันแบบชาวบ้านๆ ไม่มีพิธีรีตองหรือการวางเนื้อวางตัว แต่บางครั้งก็สามารถพูดเข้าไปแทงถึงก้นบึ้งหัวใจของผู้ฟังทีเดียว


ในเรื่องของเจโตปริยญาณ หรือการกำหนดรู้ใจผู้อื่นได้นั้น เป็นธรรมเฉพาะตัวไม่อาจประกาศหรือโฆษณากันได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ประจักษ์เฉพาะกับผู้ที่ได้สัมผัสด้วยตนเองแล้วเท่านั้น...

สร้างพระอย่างพุทธะ
...........................

หลวงปู่ดู่ท่านมิได้ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ การที่ท่านสร้างหรืออนุญาตให้สร้างพระเครื่อง หรือพระบูชาก็เพราะเห็นประโยชน์ เพราะบุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ท่านเองมิได้จำกัดศิษย์อยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น คณะศิษย์ของท่านจึงมีกว้างขวางออกไป ทั้งที่ใจในธรรมล้วนๆ หรือที่ยังต้องอิงกับวัตถุมงคล ท่านเคยพูดว่า "ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าที่จะให้ไปติดวัตถุอัปมงคล" ทั้งนี้ท่านย่อมใช้ดุลยพินิจพิจารณาตามความเหมาะสม ตามความเหมาะควรแก่ผู้ที่ไปหาท่าน

พระเครื่องและพระบูชาต่างๆ ที่ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกให้แล้วนั้น ปรากฎผลแก่ผู้บูชาในด้านต่างๆ เช่น แคล้วคลาด เป็นต้น นั่นก็เป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางโลก แต่ประโยชน์ที่ท่านผู้สร้างมุ่งหวังอย่างแท้จริงนั้นก็คือ ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติภาวนา มีพุทธานุสติกรรมฐาน เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติยังได้อาศัยพลังจิต ที่ท่านตั้งใจบรรจุไว้ในพระเครื่อง ช่วยน้อมนำและประคับประคองให้จิตรวมสงบได้เร็วขึ้น ตลอดถึงการใช้เป็นเครื่องสร้างเสริมกำลังใจ และระงับความหวาดวิตกขณะปฏิบัติอีกด้วย สิ่งนี้ถือเป็นประโยชน์ทางธรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดพัฒนาการทางจิตของผู้ใช้ไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ เพราะการที่เราได้อาศัย พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ และสังฆัง สรณัง คัจฉามิ คือได้ยึด ได้อาศัยเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะในเบื้องต้นก่อน

เมื่อจิตของเราเกิดศรัทธา โดยเฉพาะอย่างที่เรียกว่า ตถาคตโพธิศรัทธา คือ เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าขึ้นแล้ว เราก็ย่อมเกิดกำลังใจขึ้นว่า พระพุทธองค์ เดิมก็เป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับเรา ความผิดพลาดพระองค์ก็ทรงเคยทำมาก่อน แต่ก็ด้วยความเพียร ประกอบกับพระสติปัญญาที่ทรงอบรมมาดีแล้ว จึงสามารถก้าวข้ามสามโลกสู่ความหลุดพ้น เป็นการบุกเบิกทางที่เคยรกชัฏให้พวกเราได้เดินกัน ดังนั้น เราซึ่งเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับพระองค์ ก็ย่อมที่จะฝึกฝนอบรมกาย วาจา ใจ ด้วยตัวของเราเองได้เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงกระทำมา พูดอีกอย่างหน่งก็คือ กาย วาจา ใจ เป็นสิ่งที่ฝึกฝนอบรมกันได้ ใช่ว่าจะต้องปล่อยให้ไหลไปตามยถากรรม

เมื่อจิตของเราเกิดศรัทธาดังที่กล่าวมานี้แล้ว ก็มีการน้อมนำเอาข้อธรรมคำสอนต่างๆ มาประพฤติ ปฏิบัติขัดเกลากิเลสออกจากใจตน จิตใจของเราก็จะเลื่อนชั้นจากปุถุชนที่หนาแน่นด้วยกิเลส ขึ้นสู่กัลยาณชนและอริยชนเป็นลำดับ เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ในที่สุด เราก็ย่อมเข้าถึงที่พึ่งคือ ตัวเราเอง อันเป็นที่พึ่งที่แท้จริง เพราะกาย วาจา ใจ ที่ผ่านขั้นตอนการฝึกฝนอบรมโดยการเจริญศีล สมาธิ และปัญญาแล้ว ย่อมกลายเป็น กายสุจริต วาจาสุจริต และมโนสุจริต กระทำสิ่งใด พูดสิ่งใด คิดสิ่งใด ก็ย่อมหาโทษมิได้ ถึงเวลานั้น แม้พระเครื่องไม่มี ก็ไม่อาจทำให้เขาเกิดความหวั่นไหว หวาดกลัวขึ้นเลย....

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทางสายกลาง

อุปสรรคของสมาธิ

หลวงปู่มั่นเล่าเรื่องพระธาตุพนม