นิพพานมิใช่อัตตา มิใช่อนัตตา

นิพพานมิใช่อัตตา มิใช่อนัตตา โดย อาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน (หลวงตามหาบัว)

ธรรมเทศนาโดย อาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน (หลวงตามหาบัว) วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

เทศน์อบรมพระ ณ. วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓
(นิพพานมิใช่อัตตา มิใช่อนัตตา)
ผู้ปฏิบัติทั้งหลายพึงสังเกตให้รอบคอบ ไม่งั้นติดและทำให้ล่าช้าในการดำเนิน และอย่าเข้าใจว่าเป็นสูงเป็นต่ำ เป็นที่ยึดเป็นที่ไว้ใจที่ต้องใจเมื่อพิจารณาเข้าไป เมื่อถึงขั้นที่จะทำลายกันแล้วนั้น อันนี้แลที่เรียกว่าจะว่าขิปปาภิญญาหรือว่าอุคฆติตัญญูก็ได้เมื่อถึงขั้นนี้ แล้ว ไม่นาน เป็นขั้นละเอียด ถ้าว่างานก็ง่ายแล้ว มีแต่ยุบยิบ ๆ อยู่ภายในจิตเท่านั้น นอกนั้นหมดปัญหาไปโดยประการทั้งปวง ประหนึ่งว่าเราไม่เคยพิจารณามาเลย คือจิตไม่สนใจกับสิ่งใดทั้งนั้น เพราะไม่ติดใจ ปล่อยมาแล้ว วางมาแล้ว รู้แล้วเห็นแล้วไปยุ่งทำไม มันรู้เอง ตรงไหนที่ยังมีสัมผัสสัมพันธ์ดูดดื่มอยู่ ตรงนั้นแหละเป็นจุดที่อยู่ของข้าศึก จึงต้องรบกันที่ตรงนั้น ฟาดฟันหั่นแหลกกันที่ตรงนั้น
พอจุดสุดท้ายพังทลายลงไปด้วยปัญญาอันทันสมัยแล้วก็หมดปัญหาโดยสิ้นเชิง จะพิจารณาว่าอันนี้เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อะไรอีก ใจเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ได้ยังไง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นทางเดินเพื่อพระนิพพานต่างหาก ใจที่บริสุทธิ์แล้วเป็น อนตฺตา ได้ยังไง ถ้าใจที่บริสุทธิ์แล้วเป็น อนตฺตา นิพพานเป็น อนตฺตา นิพพานก็เป็นไตรลักษณ์ละซิ เป็นของอัศจรรย์อะไร เพราะฉะนั้นธรรมชาตินั้นจึงไม่มีสมมุติที่จะพูดว่าเป็น อตฺตา หรือเป็น อนตฺตา เพราะทั้งสองนี้เป็นสมมุติด้วยกัน
อันนั้นไม่ใช่สมมุติ พ้นวิสัยของสมมุติไปแล้ว ท่านจึงให้ชื่อเพียงว่าวิมุตติเท่านั้น แล้วก็ไม่ขัดกับธรรมบทใดเหมือนคำว่า อนตฺตา ถ้าว่า อนตฺตา ก็ขัดกับไตรลักษณ์ ดึงพระนิพพานมาเป็นไตรลักษณ์เสียเอง เป็นวิมุตติพ้นแล้วก็หมดปัญหา เมื่อถึงจุดนี้ว่าขิปปาภิญญาก็ได้ เพราะเป็นขึ้นเพียงขณะเดียวเท่านั้น อุคฆติตัญญูก็ได้ ทราบกลมายาของกิเลสทั้งมวลโดยลำดับ ๆ ไปถึงขณะนั้นยิ่งจะทราบเลย เรียกว่าอุคฆติตัญญูก็ได้ วิปจิตัญญูก็ได้ หากมีเหตุมีผลเป็นเครื่องเทียบเคียงตนเอง สอนตนเอง พิจารณาโดยลำพังตนเอง ฟังเทศน์ระหว่างอวิชชากับจิต หรือระหว่างขันธ์กับจิต
ตั้งแต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไปแหละ นี่เป็นเรื่องฟังธรรมทั้งกลางวันกลางคืนไปตลอดสาย ส่วนรูปนี้เวลาชำนิชำนาญทางอสุภะแล้วก็เป็นได้ พิจารณาทั้งกลางวันกลางคืน ยิ่งไปถึงขั้นอวิชชาด้วยแล้วเหมือนน้ำซับน้ำซึมไหลรินอยู่ทั้งแล้งทั้งฝน สติปัญญาขั้นละเอียดกับกิเลสประเภทละเอียดตามต้อนกัน พิจารณากัน ต่อสู้กัน จนกระทั่งหมดสิ่งที่จะต่อสู้ หมดข้าศึก หมดสมมุติ หมดศัตรูภายในจิตใจแล้ว สติปัญญาที่หมุนตัวเป็นเกลียวอยู่เหมือนธรรมจักรก็หมดปัญหาไปเอง เพราะสติปัญญาก็เป็นสมมุติฝ่ายแก้ สมุทัยก็เป็นสมมุติฝ่ายผูกมัด เมื่อฝ่ายนั้นซึ่งเป็นฝ่ายกิเลสสิ้นสุดลงไปหรือหมดปัญหาลงไปแล้ว สติปัญญาประเภทมรรคจะไปแก้อะไร ย่อมหมดปัญหาไปเช่นเดียวกัน
หากจะพูดก็ว่าสติในหลักธรรมชาติ ปัญญาในหลักธรรมชาติ หรือว่าปัญญาญาณไปเสีย แต่ก็เป็นสมมุติด้วยกัน ธรรมชาติที่บริสุทธิ์นี้เท่านั้นเป็นวิมุตติ ไม่มีอาการ อันใดที่แสดงอาการออกอันนั้นเป็นสมมุติทั้งมวล อาศัยกันไปเพียงระยะชั่วขันธ์แตกสลายเท่านั้น พอขันธ์แตกสลายไปแล้วอันนี้ก็หมดปัญหา อาการทั้งมวลนี้ก็เป็นไปตามสมมุติทั้งหมด ส่วนวิมุตตินั้นไม่ใช่นักโทษไม่ใช่ผู้ต้องหา จะต้องไปเที่ยวหาตั้งชื่อตั้งนาม ไปหาค้นคว้าว่าไปอยู่ที่ไหน ๆ อะไร ถ้าเป็นผู้ต้องหาก็จะต้องตามจับควบคุมตัวมาลงโทษ นั่นเป็นวิมุตติ
ขอให้เป็นเถอะใครเป็นก็รู้ได้ทุกคนนั่นแหละ สนฺทิฏฺฐิโก พระพุทธเจ้าไม่ได้ผูกขาด มอบให้กับผู้ปฏิบัติทุกคนจะพึงรู้โดยลำพังตนเอง สนฺทิฏฺฐิโก จะเป็นผู้พึงรู้เองเห็นเองด้วยการปฏิบัติตามสติปัญญาของตนเอง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ท่านผู้รู้ทั้งหลายจะพึงรู้จำเพาะตน มันก็หมดปัญหา
นั่นละหนักมาขนาดไหน ทุกข์มาเพียงไรก็ตาม เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วมันลบล้างกันหมดเรื่องความทุกข์ทั้งหลาย ไม่เสียดายความเพียรของตนที่ทำมาหนักเบามากน้อยเพียงไรแทบล้มแทบตาย ไม่ได้เสียดายกำลังความเพียรที่ทำอยู่นั้นด้วยความทุกข์ยากลำบาก เพราะคุณค่าเกินคาดเกินหมาย เป็นธรรมล้นค่า ทำไมเราจะต้องมาถือความทุกข์ความลำบากซึ่งเปรียบเหมือนมูตรเหมือนคูถนี้เป็น อุปสรรค แล้วเราจะเห็นธรรมอันประเสริฐที่เป็นเครื่องลบล้างสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง ต้องคิดอย่างนั้นนักปฏิบัติ
อย่าท้อถอยอ่อนแออันเป็นกลมายาของกิเลสทั้งมวล มีอยู่รอบจิตใจของเรา พากันคิดอ่านไตร่ตรองให้ดีทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นไปด้วยความราบรื่นดีงาม สมนามว่าเราเป็นผู้มาชำระกิเลส อย่าให้กิเลสมาเหยียบย่ำทำลายหัวใจเรา กิริยามารยาทอาการแสดงออกทุกแง่ทุกมุม อย่าให้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวลดังที่เคยเป็นอยู่นี้ ให้เป็นเรื่องของธรรมได้มีโอกาสแสดงออกมาบ้าง ด้วยความพยายามของเรา สมกับนามว่าเป็นนักปฏิบัติ เป็นนักต่อสู้ เป็นนักใคร่ครวญเพื่อความรู้ความฉลาด

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทางสายกลาง

อุปสรรคของสมาธิ

หลวงปู่มั่นเล่าเรื่องพระธาตุพนม