บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ - ๒.บุญที่สำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล (ศีลมัย) 

" ศีล " คือ ความ ประพฤติที่ดีงาม ความมีระเบียบวินัย และความมีมรรยาทงดงาม การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย การควบคุมตน ให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียน เว้นจากความชั่ว
........ศีลของบรรพชิต และศีลของคฤหัสถ์........
ศีลของบรรพชิต ได้แก่ 
ศีล ๒๒๗ หรือจตุปาริสุทธิศีล สำหรับภิกษุ
ศีล ๑๐ .....สำหรับสามเณร
ศีลของคฤหัสถ์ ได้แก่ 
ศีล ๘ หรืออุโบสถศีล สำหรับอุบาสก อุบาสิกา
ศีล ๕ หรือ เบญจศีล สำหรับบุคคลทั่วไป

สำหรับศีลของผู้ครองเรือนนั้น โดยเฉพาะเบญจศีล เป็นการรักษาเจตนาที่จะควบคุมกาย และวาจาให้เป็นปกติ คือ ไม่ทำบาป ด้วยการละเว้น 5 ประการ คือ
1. ปาณาติบาต คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ และการเบียดเบียนสัตว์ ทุกประเภท
2. อทินนาทาน คือ ละเว้นจากการลักขโมย ปล้นจี้ ฉกชิง วิ่งราว การละเมิดกรรมสิทธ์ และทำลายทรัพย์สิน
3. กาเมสุมิจฉาจาร คือ ละเว้นจากการประพฤติผิดในกามด้วยการล่วงละเมิด ลูก เมีย ผัวคนอื่น ล่วงละเมิดในบุคคลที่ผู้อื่นรักใคร่ หวงแหน
4. มุสาวาท คือ ละเว้นจากการพูดปด หรือโกหกหลอกลวง พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล พูดส่อเสียด พูดคำลามก เป็นต้น
5. สุราเมระยะ คือละเว้นการเสพของมึนเมา สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งของความประมาท เว้นจากสิ่งเสพติดทั้งปวง เพราะจะเป็นที่มาของการผิดศีลในข้ออื่น 

การงดเว้นจากความชั่วเหล่านี้ ท่านเรียกว่า ศีล ๕ บ้าง สิกขาบท ๕ บ้าง เบญจศีลบ้าง หรือนิจศีลบ้าง เป็นศีลที่คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นประจำ คำว่า ศีล มิใช่หมายเพียงความประพฤติที่ดีงาม ทางกาย และทางวาจาเท่านั้น แต่หมายถึง ว่าจะต้องมีอาชีพสุจริตด้วย

เบญจศีลทั้ง 5 ข้อนี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะบุคคลผู้นั้นมีเบญจธรรมประจำตัวเท่านั้น คือ.

1. เมตตา คือบุคคลใดที่มีเมตตาย่อมไม่ฆ่า หรือเบียดเบียนสัตว์ด้วยรู้ดีว่าทุกชีวิตย่อมมีความรักตัว และกลัวตายเช่นเดียวกับเรา ทำให้ไม่ผิดศีลในข้อปาณาติบาต
2. สัมมาอาชีพ คือประกอบอาชีพที่สุจริต มีรายได้ รู้จักใช้จ่าย และที่สำคัญรู้จักคำว่าพอดีและมีหิริโอตตัปปะคือ ความละอาย และเกรงกลัวต่อผลของบาป จึงทำให้ไม่ผิดศีลข้ออทินนาทาน
3. ความสำรวมอินทรีย์ คือระมัดระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำให้ความใคร่ในกามคุณ คือการติดใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ลดน้อยลง เมื่อความสำรวมเกิดขึ้น การล่วงเกินผู้อื่นก็ไม่มี
4. สัจจะ การพูดความจริง เป็นสิ่งที่ทำให้ไม่เกิดการมุสาวาท
5. สติ การรู้สึกตัว ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกุศล ทำให้ชีวิตไม่ประมาท เพราะรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว ทำให้ไม่เกลือกกลั้วกับสิ่งที่จะทำให้ชีวิตตกต่ำ

เบญจศีลและเบญจธรรมนี้เอง เป็นธรรมที่นำให้เกิดเป็นมนุษย์ ดังนั้นความเป็นมนุษย์จึงวัดกันด้วยความมีศีล นั่นคือ
ผู้ใดมีศีลครบ 5 ข้อ จัดว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 100 %
ผู้ใดมีศีลเพียง 4 ข้อ จัดว่าเป็นมนุษย์เพียง 80 %
ผู้ใดมีศีลเพียง 3 ข้อ จัดว่าเป็นมนุษย์เพียง 60 %
ผู้ใดมีศีลเพียง 2 ข้อ จัดว่าเป็นมนุษย์เพียง 40 %
ผู้ใดมีศีลเพียง 1 ข้อ จัดว่าเป็นมนุษย์เพียง 20 %

ใดที่ไม่มีศีลก็ไม่จัดว่า เป็นมนุษย์ การรักษาศีลคือ การควบคุมกายวาจา ไม่ให้ผิดปกติ คือไม่ให้ทำบาป ฉะนั้นขณะใดเป็นผู้อยู่ในศีลควบคุมความปกติไว้ได้ ขณะนั้นบุญก็เกิดขึ้น บาปก็เกิดไม่ได้ เช่น ขณะที่เรานั่งฟังธรรมะ ขณะนั้นเราเป็นผู้มีศีลครบ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่เพราะความไม่เข้าใจ บางครั้งจึงทำให้ชีวิตขาดทุน เช่นการอาราธนาศีล และรับศีลจากพระ บางคนไม่กล้ารับศีลบางข้อ เช่น ผู้ชายที่มักดื่มเหล้าจะไม่กล้ารับศีลข้อ 5 ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นเขาไม่ได้ดื่ม แสดงว่าขณะนั้นเขาไม่ได้ทำผิดศีลในข้อนั้น ชีวิตของเขาจึงขาดทุน เพราะขณะนั้นแทนที่จะเกิดบุญ กลับเกิดบาปแทน ก็เพราะความคิดที่ว่าเราไม่สามารถทำได้ในข้อนี้เท่ากับขณะนั้นระลึกว่าเราบาป

บุญกิริยาวัตถุในข้อทานมัย อันเป็นการทำความดีด้วยการสงเคราะห์คนอื่นด้วยวัตถุนั้น เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ส่วนสีลมัย ซึ่งเป็นกิริยาวัตถุที่ต้องควบคุมความประพฤติทางกาย และวาจานั้น จะต้องมีตลอดเวลาโดยอาศัยพื้นฐานของเบญจธรรม ดังตัวอย่างเช่น การทำทุจริตทางกายที่เกิดขึ้นได้เป็นเพราะผู้นั้นขาดเมตตา และมีกิเลส เช่นแม่ค้าที่ฆ่าปลา ฆ่าไก่ ก็เพราะต้องการเงิน ย่อมทำให้เกิดบาป (ทุจริต) ที่เกิดจากการฆ่าสัตว์ หรือการประทุษร้ายคนอื่นเพื่อต้องการทรัพย์ ย่อมทำให้เกิดบาป ที่เกิดจากการลักทรัพย์ เป็นต้น ฉะนั้นเมตตาเมื่อมีอยู่ตราบใด การที่เราจะนำกาย วาจา ไปทำความชั่วให้ผู้อื่นเดือดร้อนย่อมไม่มี พระพุทธองค์แสดงว่า ศีล คือการเว้นปาณาติบาต, เว้นอทินนาทาน, เว้นกาเมสุมิจฉาจาร, เว้นมุสาวาท, และเว้นจากการเสพของมึนเมา ทุกประเภท เมื่อทำได้อย่างนี้ ถือว่าเป็น "มหาทาน" คือเป็นทานอันเลิศ เพราะเป็นทานที่หาค่าประมาณมิได้ 

" จตุ ปา ริ สุท ธิ ศีล " เป็นศีลที่บริสุทธิ์ มี ๔ อย่าง คือ
๑. ปา ฏิ โม กข สัง วร ศีล การสำรวมในพระปาฏิโมกข์
๒. อิ น ท ริ ย สัง วร ศีล การสำรวมในอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
๓. อา ชี ว ปา ริ สุ ท ธิ ศีล การเลี้ยงชีพโดยทางที่ชอบ
๔. ปัจ จ ย สั น นิ สิต ศีล การพิจารณาก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช

" ศีล อุ โบ สถ " คือ ศีล ๘ ที่อุบาสก อุบาสิกา รักษาในวันอุโบสถ คือ ขึ้นและแรม ๘, ๑๕ ค่ำ ศีล ๘ ไม่กำหนดวันรักษา คือ รักษาได้ทุกวัน

การรักษาศีล จะต้องมีเจตนาที่จะงดเว้น จากการทำความชั่วทั้งปวง จึงจะเป็น ศีล ถ้าไม่มีเจตนาที่จะงดเว้น แม้ผู้นั้นมิได้ทำความชั่ว ก็ไม่ชื่อว่ามีศีล เหมือนเด็กอ่อนที่นอนแบเบาะ แม้จะมิได้ทำความชั่วก็ไม่มีศีล เพราะเด็กไม่มีเจตนาที่จะงดเว้น
(ข้อความเพิ่มเติมใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อุโบสถสูตร ข้อ ๕๑๐)


ศีลมัย บุญที่สำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล
ย่อมต้องได้รับอานิสงส์ ดังนี้
๑) ทำให้มีความสุขกาย สุขใจ
๒) ทำให้เกิดโภคทรัพย์ได้
๓) ทำให้สามารถใช้สอยทรัพย์นั้นได้เต็มอิ่ม โดยไม่หวาดระแวง
๔) ทำให้ไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงทรัพย์คืน
๕) ทำให้เกียรติคุณฟุ้งขจรไป ทำให้ผู้อื่นเกิดความเชื่อถือ
๖) ทำให้ชีวิตนั้นแกล้วกล้าองอาจท่ามกลางชุมชน
๗) ทำให้ไม่เป็นคนหลงลืมสติ
๘) ตายแล้วไปเกิดในสุคตภูมิ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทางสายกลาง

อุปสรรคของสมาธิ

หลวงปู่มั่นเล่าเรื่องพระธาตุพนม