บุญที่สำเร็จได้ด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้อื่น

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ - ๖. ปัตติทานะ บุญที่สำเร็จได้ด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้อื่น

ศัพท์ว่า ปัตติ ในที่นี้แปลว่า ส่วนบุญ ส่วนความดี ปัตติทาน แปลว่า การให้ส่วนบุญหรือส่วนความดี เมื่อได้ทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นถวายทานแก่พระสงฆ์เป็นต้นแล้วอุทิศให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว หรือตั้งใจมอบหรือถวายให้ส่วนบุญส่วนความดีนั้นแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อให้เขาได้รื่นเริงบันเทิงอนุโมทนาเป็นสุขใจต่อๆ ไป หรือเพื่อเขาจะได้อนุวัตรปฏิบัติบำเพ็ญบุญตามให้เกิดสุขยิ่ง ๆ ขึ้นโดยควรแก่ฐานะ และเพื่อจัดความตระหนี่ซึ่งเป็นมลทินของตนประการหนึ่ง ชื่อว่าวัณณมัจฉริยะ ตระหนี่ความดี หวงแหนความดีเอาดีแต่ผู้เดียว ไม่ยอมให้ผู้อื่นดีบ้าง
การอุทิศส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง การบอกให้ผู้อื่นได้ร่วมอนุโมทนาด้วย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ได้ทราบข่าวการบุญการกุศลที่เราได้กระทำไป
การแบ่งส่วนบุญ ให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
.....นายอันนภาระ เป็นคนขนหญ้าของสุมนเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี ได้ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระนามว่า อุปริฏฐะ ตั้งความปรารถนาว่า ด้วยอานิสงส์ ของทานนี้ ขอความเป็นผู้ขัดสนอย่าได้มีแก่เรา คำว่า "ไม่มี" ขออย่าได้มีในภพน้อยภพใหญ่ ที่บังเกิด พระปัจเจกพุทธเจ้า กระทำ อนุโมทนาว่า "ขอความปรารถนาของท่านจงสำเร็จเถิด"
.....เทวดาที่สิงอยู่ในฉัตรของบ้าน สุมนเศรษฐี กล่าวว่า "น่าชื่นใจจริง ทานของท่านอันนภาระตั้งไว้ดีแล้วในพระปัจเจกพุทธเจ้า" ได้ให้สาธุการ ๓ ครั้ง สุมนเศรษฐี ได้ยินดังนั้น จึงถามเทวดา ว่า "เราถวายทานมาเป็นเวลานานเท่านี้ เหตุไรท่านยังมิเคยให้สาธุการแก่เราเลย" เทวดาตอบ ว่า "เพราะความเลื่อมใสในบิณฑบาต ที่อันนภาระถวายแล้ว"
.....สุมนเศรษฐี เมื่อรู้เหตุนั้น จึงขอซื้อบุญนั้นกับอันนภาระ ด้วยทรัพย์ถึงพันกหาปนะ อันนภาระไม่ยอมขาย แต่ได้แบ่งบุญนั้นให้สุมนเศรษฐี อนุโมทนาด้วยศรัทธา เพราะฟังอุปมาของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นว่า "ข้าวยาคูกระบวยหนึ่ง หรือทัพพีหนึ่งก็ตาม เมื่อบุคคลนั้น แบ่งส่วนในทานของตนให้แก่ ผู้อื่น ให้แก่คนมากเท่าใด บุญนั้นย่อมเจริญ เหมือนเมื่อแบ่งบุญนี้ให้เศรษฐีก็เท่ากับว่าเพิ่มบุญ เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของท่าน อีกส่วนหนึ่งเป็นของเศรษฐี เปรียบเหมือน ประทีปที่จุดไว้ในเรือนหลังเดียว เมื่อมีผู้นำประทีปอื่นมาขอต่อไฟ อีกร้อยดวง พันดวงก็ตาม ประทีปดวงแรก ในเรือนนั้นก็ยังมีแสงสว่างอยู่ และประทีปอีกร้อยดวง พันดวง ที่ต่อออกไปก็ยิ่งเพิ่มแสงสว่างให้สว่างอีกเป็นทวีคูณ ดุจบุญที่แม้แบ่งใครๆ แล้ว บุญนั้น ก็ยังมีอยู่มิได้หมดสิ้นไป ฉะนั้น" (ขุททกนิการ คาถาธรรมบท ภิกขุวรรค เรื่องสุมนสามเณร)
การอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
. . . . . ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิกาต ชาณุสโสณีสูตร ข้อ ๑๖๖ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบ ข้อสงสัย ของชาณุสโสณี พราหมณ์ ว่า ในบรรดา สัตว์ ทั้งหลาย มีสัตวนรก สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา และเปรตทั้งหลาย มีเปรตจำพวกเดียวที่ได้รับส่วนบุญที่มีผู้อุทิศไปให้ เพราะวิสัยของเปรต ย่อมยังชีพอยู่ด้วยทานที่หมู่ญาติ หรือหมู่มิตรสหายให้ไปจากมนุษย์โลกนี้เท่านั้น ส่วนสัตว์เหล่าอื่นที่ไม่ได้รับเพราะเหตุว่า
. . . . "สัตว์นรก" มีกรรมเป็นอาหาร มีกรรมเป็นเป็นผู้หล่อเลี้ยงอุปถัมภ์ ให้สัตว์นรกนั้นๆ มีชีวิตอยู่
. . . . "สัตว์เดรัจฉาน" มีชีวิตอยู่ด้วย ข้าว น้ำ หญ้า และเนื้อสัตว์ เป็นต้น
. . . . "มนุษย์" มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารมี ข้าวสุก และขนม เป็นต้น
. . . . "เทวดา" มีอาหารทิพย์ มิได้บริโภคอาหารเช่นเดียวกับมนุษย์
. . . . ส่วน "เปรต" นั้น ไม่มีการทำไร่ ไถนา ไม่มีการเลี้ยงโค ไม่มีการค้าขาย เปรต มีชีวิตอยู่ด้วยการให้ของผู้อื่นแต่อย่างเดียว เพราะฉะนั้น เปรตจึงอยู่ในฐานะที่จะรับส่วนบุญที่มีผู้อุทิศไปให้ เหมือน พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนบุญที่ได้ถวายทานแล้ว ให้แก่เปรตผู้เป็นญาติสายโลหิต ทั้งหลาย ที่รอคอย มาเป็นเวลานาน ดังในขุททกนิกายขุททกปาฐะ ติโรกุฑฑสูตร อรรถกถา กล่าวว่า
- ในขณะที่พระเจ้าพิมพิสาร ถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว ของกิน แล้วทรงอุทิศว่า ขอทานนี้จงถึงแก่พวกญาติทั้งหลาย ทันใดนั้น ข้าวยาคู ของเคี้ยว ของกินอันเป็นทิพย์ ก็บังเกิดแก่เปรตเหล่านั้น ให้อิ่มหนำ สำราญ มีอินทรีย์อิ่มเอิบ
- ในขณะที่พระราชานั้น ถวายผ้า และเสนาสนะเป็นต้น แล้วทรงอุทิศว่า ขอทานนี้จงถึงแก่พวกญาติทั้งหลาย ทันใดนั้นเอง ผ้าทิพย์ ยานทิพย์ ปราสาททิพย์ เครื่องปูลาด และที่นอน อันเป็นทิพย์ บังเกิดขึ้นแล้ว แก่เปรตเหล่านั้น ได้สวมใส่ใช้สอย
- ในขณะที่พระราชา หลั่งน้ำทักษิโณทก (กรวดน้ำ) ทรงอุทิศว่า ขอทานเหล่านี้จงถึงแก่พวกญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุข ทันใดนั้นเอง สระโบกขรณีดาษด้วยปทุม ก็บังเกิดแก่พวกเปรตเหล่านั้น ให้ได้อาบ ดื่มกิน ระงับความกระหายกระวนกระวายได้แล้ว มีผิวพรรณดุจทอง
การอุทิศส่วนบุญให้แก่เทวดา เรียกว่า เทวตาพลี
. . . . . ในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ปาฏลิคามิยสูตร แสดงไว้ว่า บุคคลเมื่อถวายปัจจัย ๔ แก่สงฆ์แล้ว พึงอุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่เทวดาด้วย เพราะว่าคนที่อุทิศส่วนบุญให้แก่เทวดาแล้ว เทวดาย่อมคุ้มครองรักษาผู้นั้น เพราะเทวดาพากันคิดว่า คนเหล่านี้แม้จะมิได้เป็นญาติกับเราก็ยังให้ส่วนบุญแก่เราได้ ฉะนั้น เราควรอนุเคราะห์พวกเขาตามสมควร
. . . . อนึ่งพึงเข้าใจว่า เทวดา เมื่อท่านทราบแล้ว ท่านอนุโมทนากุศลนั้นด้วย ท่านก็เพียงแต่เกิดกุศลจิตพลอยยินดีด้วยเท่านั้น ท่านมิได้รับผลของทาน ที่มีผู้อุทิศไปโดยตรง เหมือนอย่างเปรตที่ได้รับ
บุญที่สำเร็จได้ด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้อื่น ย่อมต้องได้รับอานิสงส์ ดังนี้
๑) ไม่มีความอดอยาก ยากจน
๒) ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน
๓) มีบริวารดี
๔) เป็นที่รักของผู้พบเห็น
๕) มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม
๖) มีอายุยืน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทางสายกลาง

อุปสรรคของสมาธิ

หลวงปู่มั่นเล่าเรื่องพระธาตุพนม