วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ความทุกข์เป็นเรื่องของใจมากกว่ากาย

         
              บางครั้งเราอาจเป็นทุกข์กับความเจ็บป่วยหรือความลำบากทางกาย
แต่ก็ไม่มากเท่ากับทุกข์ที่เกิดจากความคิดหรือการวางใจไว้ผิด

จริงหรือไม่ว่า เราชอบเก็บเอาความคิดร้ายๆมาใส่ใจ
คำพูดของคนอื่นที่ผ่านไปนานแล้ว เราก็ยังเก็บมาคิดให้รู้สึกเจ็บแค้นในใจ

เวลาที่มีคนต่อว่า แทนที่เราจะทำใจให้เป็นอิสระโดยการปล่อยให้คำพูดนั้นผ่านไปกับกาลเวลา
แต่เรากลับยอมเป็นทาสของถ้อยคำเหล่านั้น ด้วยการเก็บมาคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เหมือนฉายหนังเรื่องเดิมโดยไม่รู้จักหยุด ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าไม่เกิดประโยชน์อะไร

เมื่อไรก็ตามที่เรามีสติรู้ตัวและไม่ยอมให้ทุกข์เล่นงานอย่างที่เคยเป็น
ไม่ว่าใครก็ไม่อาจบังคับใจเราให้เป็นทุกข์ได้
เมื่อใจของเราไม่ยอมเก็บความคิดร้าย ๆ มาใส่ใจ
ทุกข์เหล่านั้นก็เป็นเหมือนสายลมที่พัดมาแล้วก็ลอยผ่านไป
ไม่ส่งผลสะเทือนต่อความเป็นอยู่ของเรา
เมื่อนั้น ใจเราก็เป็นอิสระจากทุกข์



การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

        ทำไมจึงต้องปฏิบัติธรรม? ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรมจิตของเราก็จะไม่เกิดเป็นธรรม เมื่อจิตไม่เป็นธรรม การกระทำ การพูด การคิดเห็น ก็จะไม่เป็นธรรม เพราะมีอารมณ์ของบาปอกุศลคอยคิดเห็นแทนในการกระทำ ในการพูด ในการคิดเห็น เราจึงมักทำอะไรๆผิดๆพลาดๆอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน เพราะจิตไม่มีธรรม จึงไม่มีเมตตาธรรม ไม่มีหิริความละอายแก่ใจ ไม่มีโอตตัปปะคือไม่เกลงกลัวต่อบาป ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมจึงสำคัญต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง

การปฏิบัติธรรมทุกๆคนทำได้และทำได้ตลอดเวลาของชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอยู่วัดหรืออยู่บ้านก็ทำได้และก็ทำในแบบเดียวกันหมด คือมุ่งละบาป ละอกุศลธรรม ละความโลภ, ละความโกรธ, ละความหลง, ด้วยการเจริญสติตามแนวทาง ธัมมานุสสติ คือการระลึกถึงพระธรรม หรือหัวข้อธรรมเป็นอารมณ์ ไว้ในใจตลอดเวลาทั้งวันและคืน หรือท่องธัมมะภาวนาไว้ให้ได้ ๓๐ ครั้งต่อวันหรือตลอดวันของชีวิตประจำวันว่า “อย่ายินดียินร้าย.อย่าว่าร้ายใคร.อย่าคิดร้ายใคร.”
เพื่อให้จิตเกิดความรู้ตัว(คือสัมปชัญญะ) เป็นความจำเก็บสะสมไว้ในจิตใต้สำนึกให้ได้มากๆ อันเป็นเหตุให้จิตมีสติรู้สกัดกั้นบาปและอกุศลไม่ให้เกิดขึ้น หรือเป็นการรู้ปล่อยวางในอารมณ์ เช่นมีใครมาด่าว่าเราๆก็ไม่โกรธเพราะจิตรู้ปล่อยวาง ได้ยินเสียงด่าเพียงสักแต่ว่าได้ยิน จึงไม่โกรธเพราะจิตไม่นึกคิดปรุงแต่งด้วยอัตตา ก็ไม่เกิดการทำบาป เพราะจิตเป็นกุศลธรรม จึงเกิดเป็นบุญคือความสบายใจ และก็อยู่ในความสงบสุข จิตมีความนิ่งไม่ว้าวุ่น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เป็นทุกข์ มีเมตตาธรรม มีหิริ มีโอตตัปปะ นี่แหละผลของการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ดังนี้.

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม



เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม เรื่องโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

        มีคำกล่าวว่า ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม คำกล่าวนี้หมายความว่าอย่างไร
โดยปกติแล้วคนเราเมื่อมีความสุข ก็หลงอยู่ในความสุขที่ตนมีอยู่ มีความประมาทว่าสถานภาพเช่นนี้คงจะดำรงอยู่ไปเรื่อยๆ ไม่เสื่อมทราม จึงไม่สนใจที่จะศึกษาธรรมะ เพราะไม่เข้าใจว่าธรรมะคืออะไร
ความไม่เข้าใจดังกล่าว ประกอบกับมีความเห็นผิด จึงดูหมิ่นดูแคลนธรรมะหรือดูหมิ่นดูแคลนพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ ตลอดจนผู้ปฏิบัติธรรม
ครั้นเมื่อตนมีทุกข์ เป็นต้นว่า ต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักหรือของรัก เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ถูกเขาโกง ถูกเขากลั่นแกล้งให้ร้าย กดขี่ข่มเหง ธุรกิจตกต่ำ มีหนี้สินมากฯลฯ ก็หาทางดับทุกข์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เข้าหาอบายมุข หาหมอดูเจ้าเข้าทรง บนบานศาลกล่าว สะเดาะเคราะห์ แก้กรรม เปลี่ยนชื่อ ตั้งศาลพระภูมิ เปลี่ยนฮวงจุ้ย สารพัดอย่าง จนในที่สุดเมื่อวิธีการต่างๆดังกล่าวไม่อาจแก้ทุกข์หรือปัญหาที่มีอยู่ได้ ที่สุดก็หันมาพึ่งธรรมะ บางคนบวช บางคนปฏิบัติธรรม
เมื่อเข้ามาสู่กระแสธรรม ทุกข์นั้นก็บรรเทาเบาบางลงได้หรือดับลงได้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
การเรียนรู้ธรรมะก็คือการเรียนรู้ความเป็นจริงของชีวิต
การปฏิบัติธรรม ก็คือการฝึกใจให้ยอมรับความเป็นจริงของชีวิต
ความเป็นจริงของชีวิตคืออะไร
ชีวิตของเรามีร่างกายกับจิตใจ ร่างกายของทุกคนมีทุกข์ติดมาด้วย เป็นต้นว่า ต้องหิว ต้องขับถ่าย ต้องปวดเมื่อยเมื่อยอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ต้องเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก ต้องง่วงเป็นต้น
ทุกข์ดังกล่าวมีอยู่ทุกวัน เราบำบัดได้ง่าย หรือป้องกันก่อนที่ทุกข์นั้นจะเกิดขึ้นก็ได้ เช่น กินก่อนหิว ขับถ่ายก่อนปวด เปลี่ยนอิริยาบถก่อนปวดเมื่อย พักผ่อนก่อนเหนื่อยล้า นอนก่อนง่วง เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความทุกข์ ทั้งๆ ที่อาการเหล่านี้เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งของร่างกาย
สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นความทุกข์ทางกายก็คือ ความแก่ ทำให้อวัยวะบางอย่างเสื่อม ไม่สามารถใช้การได้ตามปกติ ทำให้ช่วยตัวเองไม่ได้ ความเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ทำให้เจ็บปวด ได้รับความทุกข์ทรมานและความตาย ซึ่งคนทั่วๆ ไปไม่อยากตาย เพราะไม่อยากพลัดพรากจากของรักของหวง
แต่ทุกคนก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายด้วยกันทั้งนั้

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คำว่า ทาน

จากหนังสือธรรมปฏิบัติ เล่ม 12 โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)
อามิสทาน
คำว่า "ทาน" แปลว่า "การให้" การให้นี้มีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสไว้ ให้สรรพสิ่งของต่างๆ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าเรียกว่าอามิสทาน ได้แก่การให้วัตถุ จะเป็นเงินหรือวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องบริโภคก็ตาม เรียกว่าอามิสทานทั้งนั้น
ธรรมทาน
ทานอีกส่วนหนึ่งที่องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงกล่าวก็ได้แก่ธรรมทาน ธรรมทานในที่นี้ก็ได้แก่การบอกธรรม คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้เหตุผลให้รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อย่างนี้เป็นต้นอย่างหนึ่ง อย่างนี้เขาเรียกว่าธรรมทาน
ธรรมทานอีกส่วนหนึ่งที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่าสำคัญที่สุดจัดว่าเป็นปรมัตถทาน คือ เป็นทานที่ไม่ต้องลงทุน ก็ได้แก่ "อภัยทาน"
ทานทั้ง 2 อย่างนี้มีผลต่างกัน "อามิสทานนั้นให้ผลอย่างสูงก็แค่กามาวจรสวรรค์" ตามนัยที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารตรัสไว้ว่า "ทานัง สัคคโส ปาณัง" คือว่า "การให้ทานย่อมเป็นปัจจัยเป็นบันไดไปสู่สวรรค์" นี่สำหรับอามิสทาน
แต่สำหรับธรรมทาน กล่าวคือ ให้ธรรมเป็นทานก็ดี ให้อภัยทานก็ดี ทานทั้ง 2 ประการนี้เป็นปัจจัยแห่งพระนิพพาน
สำหรับธรรมทาน ทานที่ 2 นี่มีความสำคัญมาก การให้ธรรมเป็นทาน กล่าวคือ
นำพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เอามาแนะนำแก่บรรดาท่านพุทธบริษัทถ้าเทศน์เองไม่เป็นก็ไปหาคนอื่นมาเทศน์แทน อย่างนี้ก็ชื่อว่าเจ้าภาพเป็นผู้เทศน์เหมือนกัน เรียกว่าเอาคนมาพูดแทน
การให้ธรรมทานเป็นปัจจัยใหญ่ เพราะการให้ธรรมทานบุคคลได้ฟังแล้วจะเกิดปัญญา สิ่งใดที่ไม่เคยรู้มาแล้วก็จะได้มีความรู้ขึ้น เมื่อมีความรู้แล้วก็เกิดความมั่นใจ มีปัญญาเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ใด บุคคลนั้นก็เป็นผู้หลีกความทุกข์ได้
ถ้าปัญญามีมากก็หลีกความทุกข์ได้มาก ปัญญามีน้อยก็หลีกความทุกข์ได้น้อย ดีกว่าคนที่ไม่มีปัญญาเลย ไม่มีโอกาสจะหลีกความทุกข์ได้ นี่ว่ากันถึงธรรมทาน
อภัยทาน
ธรรมทานอีกส่วนหนึ่งที่มุ่งหมายจะเทศน์กันในวันนี้ก็คืออภัยทาน อภัยทานนี้เป็นการให้ทานที่ไม่ต้องลงทุนด้วยวัตถุแล้วก็เป็นทานสูงสุด
พระพุทธเจ้ากล่าวว่า "ใครเป็นผู้มีอภัยทานประจำใจ คนนั้นก็เป็นผู้เข้าถึงปรมัตถบารมีแล้ว"
คำว่าปรมัตถบารมีนี้เป็นบารมีสูงสุด เป็นบารมีที่จะทำให้เข้าถึงพระนิพพาน คำว่า "อภัยทาน" ก็ได้แก่ "การให้อภัยซึ่งกันและกัน" หมายความว่า คนใดก็ตาม เขาทำให้เราขุ่นเคือง ทำให้เราไม่ชอบใจด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม ถ้าหากเราคำพิจารณาเข่นฆ่าจองล้างจองผลาญ ถ้าเขาด่าเรา เราคิดว่าโอกาสสักวันหนึ่งข้างหน้าเราจะด่าตอบ เขาลงโทษเรา เราจะลงโทษตอบ เขาตีเรา เราคิดว่าจะดีตอบ แต่โอกาสมันยังไม่มี คิดเข้าไว้ในใจว่าเราจะทำอันตรายตอบ อย่างนี้พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็น อาฆาต คือ พยาบาท เป็นไฟเผาผลาญดวงจิต
เพราะคนที่เรากำลังคิดจะฆ่าก็ดี คิดจะประทุษร้ายก็ดีนี่เขายังไม่ทันรู้ตัว เขามีความสุข เราคนที่คิดจะทำเขานั่นแหละตั้งแต่แรกหาความสุขไม่ได้ คบไฟแห่งความพยาบาทมันเข้าเผาผลาญ มีแต่ความร้อนรุ่มกลุ้มใจ
คิดวางแผนการต่างๆ ว่า เราทำยังไงจึงจะแก้มือเขาได้ ทำยังไงเราจึงจะฆ่าเขาได้ ทำยังไงจึงจะตีเขาได้ ทำยังไงเราจึงจะด่าเขาได้ โดยคนอื่นเห็นว่าไม่มีความผิด อารมณ์ที่คิดอยู่อย่างนี้ ยังตัดสินใจไม่ได้ ยังทำไม่ได้ มันเป็นไฟเผาผลาญคนคิดนี่แหละ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เพราะอำนาจโทสะเข้าสิงใจ
นี่อำนาจโทสะหรือพยาบาทมันเริ่มเผาผลาญตั้งแต่คิด แต่คนที่ถูกคิดประทุษร้ายนั้นเขายังมีความสุข ทีนี้ถ้าเราไปทำเขาเข้าอีก ไอ้โทษมันก็จะหนักขึ้น ทำเขาเข้าอีก เขาก็จะแก้มือใหญ่ ถ้าเขาไม่แก้มือ ทางกฏหมายก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือความทุกข์ใหญ่ก็จะเกิดขึ้น.
ที่มา : หนังสือธรรมปฏิบัติ เล่ม 12 โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน

มีความสุข...อย่างไร??

หนังสือ time magazine บอกว่า ที่อเมริกา
มีงานวิจัยพบว่าคนที่มีความสุขมากที่สุดในโลก คือพระในพุทธศาสนา
โดย ทดสอบด้วยการ สแกนสมองพระที่ทำสมาธิและได้ผลลัพธ์ออกมาว่าเป็นจริง

+ หลักความเชื่อของศาสนาพุทธ คือ เหตุที่ทำให้เกิดความสุข
นั้นก็คืออยู่กับปัจจุบัน ขณะปล่อยวางได้ในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
ควบคุมความอยาก ที่ไม่มีสิ้นสุด

+ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ทะเลาะ และใช้หลักเวรย่อมระงับด้ วยการไม่จองเวร
ให้อภัยตัวเองและผู้อื่น มีจิตใจเมตตา กรุณา และเสียสละเพื่อผู้อื่น

+ อริยะ สัจ 4 สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้ นพบและบอกไว้ด้วย ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค แท้จริงแล้วก็คือทางเดินไปหาคำว่า "ความ สุข"
เพราะ ถ้าเมื่อไรเรา กำจัด "ความ ทุกข์" ได้ แล้วความสุขก็ จะเกิดขึ้น

+ อุปสรรค ของความสุขก็ คือแรงปรารถนา และ ตัณหา
คนเราจะมีความสุขไม่ขึ้นอยู่กับว่า"มี เท่าไร"
แต่ ขึ้นอยู่ที่ว่า เรา "พอ เมื่อไร" ความ สุขไม่ได้ขึ้น กับจำนวนสิ่ง
ของที่เรามี หรือเราได้...

+ ดังนั้นวิธีจะมี ความสุขอันดับ แรกต้อง "หยุด ให้เป็น และ พอใจให้ได้"
ถ้า เราไม่หยุดความอยากของเราแล้วละก็
เรา ก็จะต้องวิ่ง ไล่ตามหลายสิ่ง ที่เรา "อยาก ได้" แล้ว นั่นมันเหนื่อย
และความทุกข์ ก็จะตามมา...

+ ข้อ ต่อมาที่ทำให้ เราเป็นสุขคือ การมองทุกอย่าง ในแง่บวก
ชีวิตแต่ละวัน แน่นอนเราต้อง เจอทั้งเรื่องดีและไม่ดี
ถ้าเราอยากจะมีความสุข เราต้องเริ่มด้วยการมองแต่สิ่งดีๆ มองให้เป็นบวก
เพื่อใจเราจะได้ เป็นบวก คิดถึงสิ่งที่เราทำสำเร็จแล้วในวันนี้
สิ่งดีๆที่เราได้ทำ

+ ข้อ ต่อมาคือการให้ หมายรวมถึงการให้ในรูปแบบ สิ่งของหรือ เงิน
เรียกว่าบริจาค และการให้ความเมตตากรุณาต่อกัน
ให้ อภัยทั้งตัวเองและคนอื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัย
ทำให้เรามีความ สุข....

+ การ ปล่อยวางให้ได้ ในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าเรื่องจะ ร้ายแรงและ เศร้าโศกเพียงใด
จำไว้ว่ามันจะโดนเวลาพัดพามันไปจากเรา ไม่ช้าก็ เร็ว
เราจะผ่านพ้นไปได้....และยอมรับในความเป็นจริงของชีวิต
ไม่ ว่าจะเป็น เรื่องที้เราไม่ชอบเพียงใด ไม่ว่าผิดหวัง สูญเสีย เจ็บป่วย
ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา
ทุกคนต้องได้ผ่านบททดสอบนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะเป็นใคร...

+ ทำตนเองให้สดใส ด้วยการยิ้มให้ตนเอง ทำคนอื่นให้สดใสได้
ด้วยการยิ้มให้เขา การยิ้มไม่ต้องลงทุนอะไรเลย
แต่สร้างความสดใสได้มาก ทำให้เราเป็น สุขอยู่เสมอ
เพราะความสุขมันอยู่ใกล้แค่นี้เอง แค่ที่ใจข องเรานี่เอง
ยิ้มแย้มอย่างแจ่มใส เห็นใครทักก่อน
นี่คือ.. วิธีแสดงเสน่ห์แบบง่ายๆ แต่ให้ผลมาก

การให้อภัยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แต่การแก้แค้นลงทุนมาก
เขาด่าว่าเราไม่ถึงนาที เขาอาจลืมไปแล้วด้วย แต่เรายังจดจำ
ยังเจ็บใจอยู่... นี่เราฉลาดหรือโง่กันแน่
บ่นแล้วหมดปัญหาก็น่าบ่น บ่นแล้วมีปัญหา ไม่รู้จะบ่นหาอะไร
เรายังเคยเข้าใจผิดผู้อื่น ถ้าคนอื่นเข้าใจเราผิดบ้าง
ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไร ทำไมต้องเศร้าหมอง
ในเมื่อเราไม่ได้เป็นอย่างที่ใครเข้าใจ
อย่าโกรธฟุ่มเฟือย อย่าโกรธจุกจิก อย่าโกรธไม่เป็นเวลา อย่าโกรธมาก
จะเสียสุขภาพกาย และสุขภาพจิต
แม้จะฝึกให้เป็นผู้ไม่โกรธไม่ ได้ แต่ฝึกให้เป็นผู้ไม่โกรธบ่อยได้
ฝึกให้เป็นผู้รู้จักให้อภัยได้
การนินทาว่าร้ายเป็นเรื่ องของเขา การให้อภัยเป็นเรื่องของเรา
การชอบพูดถึงความดีของเขา คือความดีของเรา การชอบพูดถึงความไม่ดีของเขา
คือความไม่ดีของเรา
โทษคนอื่นแก้ไขอะไรไม่ได้ โทษตนเองแก้ไขได้
แก้ตัวไม่ได้ช่วยอะไร แต่แก้ไขช่วยให้ดีขึ้น
การนอนหลับเป็นการพักกาย การทำสมาธิเป็นการพักใจ คนส่วนใหญ่พักแต่กาย ไม่ค่อย
พักใจ
รู้จักทำใจให้รักผู้บังคับบัญชา รู้จักทำใจให้รักลูกน้อง
รู้จักทำใจให้รักเพื่อนร่วมงาน
สวรรค์ก็อยู่ที่ทำงาน
เกลียดผู้บังคับบัญชา เกลียดลูกน้อง เกลียดผู้ร่วมงาน นรก ก็อยู่ที่ทำงาน
การที่เรายังต้องแสวงหาความสุข แสดงว่าเรายังขาดความสุข
แต่ถ้าเรารู้จักทำใจให้เป็นสุขได้เอง ก็ไม่ต้องไปดิ้นรนแสวงหาที่ไหน
อ่อนน้อม อ่อนโยน อ่อนหวาน นั้นดี.... อ่อนข้อให้เขาบ้างก็ยังดี
แต่...อ่อนแอนั้น ไม่ดี
ในการคบคน ศิลปะใดๆ ก็สู้ความจริงใจไม่ได้
จงประหยัด คำติ แต่อย่าตระหนี่ คำชม
อภัยให้แก่กันในวันนี้ ดีกว่าอโหสิให้กันตอนตาย
ถ้าคิดทำความดี ให้ทำได้ทันที
ถ้าคิดทำความชั่ว ให้เลิกคิดทันที
ถ้าเลิกคิดไม่ได้ ก็อย่าทำวันนี้
ให้พลัดวันไปเรื่อยๆ
ถึงจะรู้ร้อยเรื่องพันเรื่อง ก็ไม่สู้รู้เรื่องดับทุกข์
โลกสว่างด้วยแสงไฟ ใจสว่างด้วยแสงธรรม
แสงธรรมส่องใจ แสงไฟส่องทาง
ผู้สนใจธรรม สู้ผู้รู้ธรรมไม่ได้
ผู้รู้ธรรม สู้ผู้ปฎิบัติธรรมไม่ได้
ผู้ปฎิบัติธรรม สู้ผู้ที่เข้าถึงธรรมไม้ได้
มีทรัพย์มาก ย่อมมีความสะดวกมาก
มีธรรมะมาก ย่อมมีความสุขมาก
เมื่อก่อนยังไม่มีเรา
เราเพิ่งมีมาเมื่อไม่นานมานี้เอง
และอีกไม่นานก็จะไม่มีเราอีก
จึงควรรีบทำดี ในขณะที่ยังมี...เรา
" ขอขอบคุณ ผู้ที่ได้จัดทำบทความนี้ จึงขอ ส่งต่อ ให้เพื่อนๆๆ
เพื่อให้มีสติมากขึ้น และพร้อมที่ จะสู้ต่อไป

วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วันเข้าพรรษา



วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วงฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น
          "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า "ปุริมพรรษา"
          ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา" เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด
          สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่
          1.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
          2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
          3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
          4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้

          นอกจากนี้หากระหว่างเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้ง ถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้
          ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา...
          อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง

วันเข้าพรรษา
          นอกจากนี้ ยังมีประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา" ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้ มีอยู่เป็นประจำทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษา พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า – เย็น และในการนี้จะต้องมีธูป - เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็นการกุศลทานอย่างหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงฆ์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว ตามชนบทนั้น การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ ก็จะมีการแห่แหน รอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา 3 เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่ง มีการแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงาม โดยถือว่าเป็นงานประจำปีเลยทีเดียว 
          ทั้งนี้ ในปี 2555 นี้ "วันเข้าพรรษา" จะตรงกับวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2555

วันเข้าพรรษา
 กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา
          ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
          ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่พระภิกษุสามเณร
          ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
          อธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ


ที่มา กระปุก ดอทคอม

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นิพพานมิใช่อัตตา มิใช่อนัตตา

นิพพานมิใช่อัตตา มิใช่อนัตตา โดย อาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน (หลวงตามหาบัว)

ธรรมเทศนาโดย อาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน (หลวงตามหาบัว) วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

เทศน์อบรมพระ ณ. วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓
(นิพพานมิใช่อัตตา มิใช่อนัตตา)
ผู้ปฏิบัติทั้งหลายพึงสังเกตให้รอบคอบ ไม่งั้นติดและทำให้ล่าช้าในการดำเนิน และอย่าเข้าใจว่าเป็นสูงเป็นต่ำ เป็นที่ยึดเป็นที่ไว้ใจที่ต้องใจเมื่อพิจารณาเข้าไป เมื่อถึงขั้นที่จะทำลายกันแล้วนั้น อันนี้แลที่เรียกว่าจะว่าขิปปาภิญญาหรือว่าอุคฆติตัญญูก็ได้เมื่อถึงขั้นนี้ แล้ว ไม่นาน เป็นขั้นละเอียด ถ้าว่างานก็ง่ายแล้ว มีแต่ยุบยิบ ๆ อยู่ภายในจิตเท่านั้น นอกนั้นหมดปัญหาไปโดยประการทั้งปวง ประหนึ่งว่าเราไม่เคยพิจารณามาเลย คือจิตไม่สนใจกับสิ่งใดทั้งนั้น เพราะไม่ติดใจ ปล่อยมาแล้ว วางมาแล้ว รู้แล้วเห็นแล้วไปยุ่งทำไม มันรู้เอง ตรงไหนที่ยังมีสัมผัสสัมพันธ์ดูดดื่มอยู่ ตรงนั้นแหละเป็นจุดที่อยู่ของข้าศึก จึงต้องรบกันที่ตรงนั้น ฟาดฟันหั่นแหลกกันที่ตรงนั้น
พอจุดสุดท้ายพังทลายลงไปด้วยปัญญาอันทันสมัยแล้วก็หมดปัญหาโดยสิ้นเชิง จะพิจารณาว่าอันนี้เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อะไรอีก ใจเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ได้ยังไง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นทางเดินเพื่อพระนิพพานต่างหาก ใจที่บริสุทธิ์แล้วเป็น อนตฺตา ได้ยังไง ถ้าใจที่บริสุทธิ์แล้วเป็น อนตฺตา นิพพานเป็น อนตฺตา นิพพานก็เป็นไตรลักษณ์ละซิ เป็นของอัศจรรย์อะไร เพราะฉะนั้นธรรมชาตินั้นจึงไม่มีสมมุติที่จะพูดว่าเป็น อตฺตา หรือเป็น อนตฺตา เพราะทั้งสองนี้เป็นสมมุติด้วยกัน
อันนั้นไม่ใช่สมมุติ พ้นวิสัยของสมมุติไปแล้ว ท่านจึงให้ชื่อเพียงว่าวิมุตติเท่านั้น แล้วก็ไม่ขัดกับธรรมบทใดเหมือนคำว่า อนตฺตา ถ้าว่า อนตฺตา ก็ขัดกับไตรลักษณ์ ดึงพระนิพพานมาเป็นไตรลักษณ์เสียเอง เป็นวิมุตติพ้นแล้วก็หมดปัญหา เมื่อถึงจุดนี้ว่าขิปปาภิญญาก็ได้ เพราะเป็นขึ้นเพียงขณะเดียวเท่านั้น อุคฆติตัญญูก็ได้ ทราบกลมายาของกิเลสทั้งมวลโดยลำดับ ๆ ไปถึงขณะนั้นยิ่งจะทราบเลย เรียกว่าอุคฆติตัญญูก็ได้ วิปจิตัญญูก็ได้ หากมีเหตุมีผลเป็นเครื่องเทียบเคียงตนเอง สอนตนเอง พิจารณาโดยลำพังตนเอง ฟังเทศน์ระหว่างอวิชชากับจิต หรือระหว่างขันธ์กับจิต
ตั้งแต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไปแหละ นี่เป็นเรื่องฟังธรรมทั้งกลางวันกลางคืนไปตลอดสาย ส่วนรูปนี้เวลาชำนิชำนาญทางอสุภะแล้วก็เป็นได้ พิจารณาทั้งกลางวันกลางคืน ยิ่งไปถึงขั้นอวิชชาด้วยแล้วเหมือนน้ำซับน้ำซึมไหลรินอยู่ทั้งแล้งทั้งฝน สติปัญญาขั้นละเอียดกับกิเลสประเภทละเอียดตามต้อนกัน พิจารณากัน ต่อสู้กัน จนกระทั่งหมดสิ่งที่จะต่อสู้ หมดข้าศึก หมดสมมุติ หมดศัตรูภายในจิตใจแล้ว สติปัญญาที่หมุนตัวเป็นเกลียวอยู่เหมือนธรรมจักรก็หมดปัญหาไปเอง เพราะสติปัญญาก็เป็นสมมุติฝ่ายแก้ สมุทัยก็เป็นสมมุติฝ่ายผูกมัด เมื่อฝ่ายนั้นซึ่งเป็นฝ่ายกิเลสสิ้นสุดลงไปหรือหมดปัญหาลงไปแล้ว สติปัญญาประเภทมรรคจะไปแก้อะไร ย่อมหมดปัญหาไปเช่นเดียวกัน
หากจะพูดก็ว่าสติในหลักธรรมชาติ ปัญญาในหลักธรรมชาติ หรือว่าปัญญาญาณไปเสีย แต่ก็เป็นสมมุติด้วยกัน ธรรมชาติที่บริสุทธิ์นี้เท่านั้นเป็นวิมุตติ ไม่มีอาการ อันใดที่แสดงอาการออกอันนั้นเป็นสมมุติทั้งมวล อาศัยกันไปเพียงระยะชั่วขันธ์แตกสลายเท่านั้น พอขันธ์แตกสลายไปแล้วอันนี้ก็หมดปัญหา อาการทั้งมวลนี้ก็เป็นไปตามสมมุติทั้งหมด ส่วนวิมุตตินั้นไม่ใช่นักโทษไม่ใช่ผู้ต้องหา จะต้องไปเที่ยวหาตั้งชื่อตั้งนาม ไปหาค้นคว้าว่าไปอยู่ที่ไหน ๆ อะไร ถ้าเป็นผู้ต้องหาก็จะต้องตามจับควบคุมตัวมาลงโทษ นั่นเป็นวิมุตติ
ขอให้เป็นเถอะใครเป็นก็รู้ได้ทุกคนนั่นแหละ สนฺทิฏฺฐิโก พระพุทธเจ้าไม่ได้ผูกขาด มอบให้กับผู้ปฏิบัติทุกคนจะพึงรู้โดยลำพังตนเอง สนฺทิฏฺฐิโก จะเป็นผู้พึงรู้เองเห็นเองด้วยการปฏิบัติตามสติปัญญาของตนเอง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ท่านผู้รู้ทั้งหลายจะพึงรู้จำเพาะตน มันก็หมดปัญหา
นั่นละหนักมาขนาดไหน ทุกข์มาเพียงไรก็ตาม เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วมันลบล้างกันหมดเรื่องความทุกข์ทั้งหลาย ไม่เสียดายความเพียรของตนที่ทำมาหนักเบามากน้อยเพียงไรแทบล้มแทบตาย ไม่ได้เสียดายกำลังความเพียรที่ทำอยู่นั้นด้วยความทุกข์ยากลำบาก เพราะคุณค่าเกินคาดเกินหมาย เป็นธรรมล้นค่า ทำไมเราจะต้องมาถือความทุกข์ความลำบากซึ่งเปรียบเหมือนมูตรเหมือนคูถนี้เป็น อุปสรรค แล้วเราจะเห็นธรรมอันประเสริฐที่เป็นเครื่องลบล้างสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง ต้องคิดอย่างนั้นนักปฏิบัติ
อย่าท้อถอยอ่อนแออันเป็นกลมายาของกิเลสทั้งมวล มีอยู่รอบจิตใจของเรา พากันคิดอ่านไตร่ตรองให้ดีทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นไปด้วยความราบรื่นดีงาม สมนามว่าเราเป็นผู้มาชำระกิเลส อย่าให้กิเลสมาเหยียบย่ำทำลายหัวใจเรา กิริยามารยาทอาการแสดงออกทุกแง่ทุกมุม อย่าให้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวลดังที่เคยเป็นอยู่นี้ ให้เป็นเรื่องของธรรมได้มีโอกาสแสดงออกมาบ้าง ด้วยความพยายามของเรา สมกับนามว่าเป็นนักปฏิบัติ เป็นนักต่อสู้ เป็นนักใคร่ครวญเพื่อความรู้ความฉลาด

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บุญที่สำเร็จได้ด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้อื่น

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ - ๖. ปัตติทานะ บุญที่สำเร็จได้ด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้อื่น

ศัพท์ว่า ปัตติ ในที่นี้แปลว่า ส่วนบุญ ส่วนความดี ปัตติทาน แปลว่า การให้ส่วนบุญหรือส่วนความดี เมื่อได้ทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นถวายทานแก่พระสงฆ์เป็นต้นแล้วอุทิศให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว หรือตั้งใจมอบหรือถวายให้ส่วนบุญส่วนความดีนั้นแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อให้เขาได้รื่นเริงบันเทิงอนุโมทนาเป็นสุขใจต่อๆ ไป หรือเพื่อเขาจะได้อนุวัตรปฏิบัติบำเพ็ญบุญตามให้เกิดสุขยิ่ง ๆ ขึ้นโดยควรแก่ฐานะ และเพื่อจัดความตระหนี่ซึ่งเป็นมลทินของตนประการหนึ่ง ชื่อว่าวัณณมัจฉริยะ ตระหนี่ความดี หวงแหนความดีเอาดีแต่ผู้เดียว ไม่ยอมให้ผู้อื่นดีบ้าง
การอุทิศส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง การบอกให้ผู้อื่นได้ร่วมอนุโมทนาด้วย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ได้ทราบข่าวการบุญการกุศลที่เราได้กระทำไป
การแบ่งส่วนบุญ ให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
.....นายอันนภาระ เป็นคนขนหญ้าของสุมนเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี ได้ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระนามว่า อุปริฏฐะ ตั้งความปรารถนาว่า ด้วยอานิสงส์ ของทานนี้ ขอความเป็นผู้ขัดสนอย่าได้มีแก่เรา คำว่า "ไม่มี" ขออย่าได้มีในภพน้อยภพใหญ่ ที่บังเกิด พระปัจเจกพุทธเจ้า กระทำ อนุโมทนาว่า "ขอความปรารถนาของท่านจงสำเร็จเถิด"
.....เทวดาที่สิงอยู่ในฉัตรของบ้าน สุมนเศรษฐี กล่าวว่า "น่าชื่นใจจริง ทานของท่านอันนภาระตั้งไว้ดีแล้วในพระปัจเจกพุทธเจ้า" ได้ให้สาธุการ ๓ ครั้ง สุมนเศรษฐี ได้ยินดังนั้น จึงถามเทวดา ว่า "เราถวายทานมาเป็นเวลานานเท่านี้ เหตุไรท่านยังมิเคยให้สาธุการแก่เราเลย" เทวดาตอบ ว่า "เพราะความเลื่อมใสในบิณฑบาต ที่อันนภาระถวายแล้ว"
.....สุมนเศรษฐี เมื่อรู้เหตุนั้น จึงขอซื้อบุญนั้นกับอันนภาระ ด้วยทรัพย์ถึงพันกหาปนะ อันนภาระไม่ยอมขาย แต่ได้แบ่งบุญนั้นให้สุมนเศรษฐี อนุโมทนาด้วยศรัทธา เพราะฟังอุปมาของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นว่า "ข้าวยาคูกระบวยหนึ่ง หรือทัพพีหนึ่งก็ตาม เมื่อบุคคลนั้น แบ่งส่วนในทานของตนให้แก่ ผู้อื่น ให้แก่คนมากเท่าใด บุญนั้นย่อมเจริญ เหมือนเมื่อแบ่งบุญนี้ให้เศรษฐีก็เท่ากับว่าเพิ่มบุญ เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของท่าน อีกส่วนหนึ่งเป็นของเศรษฐี เปรียบเหมือน ประทีปที่จุดไว้ในเรือนหลังเดียว เมื่อมีผู้นำประทีปอื่นมาขอต่อไฟ อีกร้อยดวง พันดวงก็ตาม ประทีปดวงแรก ในเรือนนั้นก็ยังมีแสงสว่างอยู่ และประทีปอีกร้อยดวง พันดวง ที่ต่อออกไปก็ยิ่งเพิ่มแสงสว่างให้สว่างอีกเป็นทวีคูณ ดุจบุญที่แม้แบ่งใครๆ แล้ว บุญนั้น ก็ยังมีอยู่มิได้หมดสิ้นไป ฉะนั้น" (ขุททกนิการ คาถาธรรมบท ภิกขุวรรค เรื่องสุมนสามเณร)
การอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
. . . . . ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิกาต ชาณุสโสณีสูตร ข้อ ๑๖๖ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบ ข้อสงสัย ของชาณุสโสณี พราหมณ์ ว่า ในบรรดา สัตว์ ทั้งหลาย มีสัตวนรก สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา และเปรตทั้งหลาย มีเปรตจำพวกเดียวที่ได้รับส่วนบุญที่มีผู้อุทิศไปให้ เพราะวิสัยของเปรต ย่อมยังชีพอยู่ด้วยทานที่หมู่ญาติ หรือหมู่มิตรสหายให้ไปจากมนุษย์โลกนี้เท่านั้น ส่วนสัตว์เหล่าอื่นที่ไม่ได้รับเพราะเหตุว่า
. . . . "สัตว์นรก" มีกรรมเป็นอาหาร มีกรรมเป็นเป็นผู้หล่อเลี้ยงอุปถัมภ์ ให้สัตว์นรกนั้นๆ มีชีวิตอยู่
. . . . "สัตว์เดรัจฉาน" มีชีวิตอยู่ด้วย ข้าว น้ำ หญ้า และเนื้อสัตว์ เป็นต้น
. . . . "มนุษย์" มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารมี ข้าวสุก และขนม เป็นต้น
. . . . "เทวดา" มีอาหารทิพย์ มิได้บริโภคอาหารเช่นเดียวกับมนุษย์
. . . . ส่วน "เปรต" นั้น ไม่มีการทำไร่ ไถนา ไม่มีการเลี้ยงโค ไม่มีการค้าขาย เปรต มีชีวิตอยู่ด้วยการให้ของผู้อื่นแต่อย่างเดียว เพราะฉะนั้น เปรตจึงอยู่ในฐานะที่จะรับส่วนบุญที่มีผู้อุทิศไปให้ เหมือน พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนบุญที่ได้ถวายทานแล้ว ให้แก่เปรตผู้เป็นญาติสายโลหิต ทั้งหลาย ที่รอคอย มาเป็นเวลานาน ดังในขุททกนิกายขุททกปาฐะ ติโรกุฑฑสูตร อรรถกถา กล่าวว่า
- ในขณะที่พระเจ้าพิมพิสาร ถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว ของกิน แล้วทรงอุทิศว่า ขอทานนี้จงถึงแก่พวกญาติทั้งหลาย ทันใดนั้น ข้าวยาคู ของเคี้ยว ของกินอันเป็นทิพย์ ก็บังเกิดแก่เปรตเหล่านั้น ให้อิ่มหนำ สำราญ มีอินทรีย์อิ่มเอิบ
- ในขณะที่พระราชานั้น ถวายผ้า และเสนาสนะเป็นต้น แล้วทรงอุทิศว่า ขอทานนี้จงถึงแก่พวกญาติทั้งหลาย ทันใดนั้นเอง ผ้าทิพย์ ยานทิพย์ ปราสาททิพย์ เครื่องปูลาด และที่นอน อันเป็นทิพย์ บังเกิดขึ้นแล้ว แก่เปรตเหล่านั้น ได้สวมใส่ใช้สอย
- ในขณะที่พระราชา หลั่งน้ำทักษิโณทก (กรวดน้ำ) ทรงอุทิศว่า ขอทานเหล่านี้จงถึงแก่พวกญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุข ทันใดนั้นเอง สระโบกขรณีดาษด้วยปทุม ก็บังเกิดแก่พวกเปรตเหล่านั้น ให้ได้อาบ ดื่มกิน ระงับความกระหายกระวนกระวายได้แล้ว มีผิวพรรณดุจทอง
การอุทิศส่วนบุญให้แก่เทวดา เรียกว่า เทวตาพลี
. . . . . ในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ปาฏลิคามิยสูตร แสดงไว้ว่า บุคคลเมื่อถวายปัจจัย ๔ แก่สงฆ์แล้ว พึงอุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่เทวดาด้วย เพราะว่าคนที่อุทิศส่วนบุญให้แก่เทวดาแล้ว เทวดาย่อมคุ้มครองรักษาผู้นั้น เพราะเทวดาพากันคิดว่า คนเหล่านี้แม้จะมิได้เป็นญาติกับเราก็ยังให้ส่วนบุญแก่เราได้ ฉะนั้น เราควรอนุเคราะห์พวกเขาตามสมควร
. . . . อนึ่งพึงเข้าใจว่า เทวดา เมื่อท่านทราบแล้ว ท่านอนุโมทนากุศลนั้นด้วย ท่านก็เพียงแต่เกิดกุศลจิตพลอยยินดีด้วยเท่านั้น ท่านมิได้รับผลของทาน ที่มีผู้อุทิศไปโดยตรง เหมือนอย่างเปรตที่ได้รับ
บุญที่สำเร็จได้ด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้อื่น ย่อมต้องได้รับอานิสงส์ ดังนี้
๑) ไม่มีความอดอยาก ยากจน
๒) ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน
๓) มีบริวารดี
๔) เป็นที่รักของผู้พบเห็น
๕) มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม
๖) มีอายุยืน

วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทำความดี










เก่งในทางที่ไม่ดีจะมี   "ประโยชน์อะไรเล่า"



หลวงตามหาบัวละสังขาร





เรามีชีวิตอยู่นี้
เราทำด้วยความเมตตา
สงสารต่อโลก "เราจะทำความดี"
ให้โลกทั้งหลายได้เห็นเป็นตัวอย่าง
เพราะหลังจากนี้แล้ว เราตายแล้ว
เราจะไม่มาเกิดในโลกนี้อีกต่อไป
เป็นตลอดอนันตกาล

คิดถึงหลวงตา คิดถึงคำสอนของหลวงตา



ภาพหลวงปู่มั่น







หลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่หลุย หลวงตามหาบัว

พรุ่งนี้วันพระ






อย่าลืม "ทำบุญตักบาตร"

พระธรรมสิงหบุราจารย์

จิตมีไว้ตรอง  สมองมีไว้คิด

ชีวิตมีเอาไว้ต่อสู้ ศัตรูมีเอาไว้เพิ่มพลัง





ปลุกตน..อย่างไรให้ตื่น..???

ปลุกตน..อย่างไรให้ตื่น..???

ใครหลับอยู่...ตื่นได้แล้วครับ

ธรรมะสอน...ใจท่านผู้อ่าน





ความเจริญเสื่อมถอย





ความเจริญเป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดมีด้วยศรัทธาในความดี แต่ธรรมดาของการดำเนินไปแห่งชีวิตที่ต้องประสบทั้งสุขและทุกข์ตามเหตุและปัจจัยที่มากระทบ บ่อยครั้งที่แรงกระทบอันเป็นวิบาก (เครื่องกั้นความเจริญ) ที่เกิดจากผลแห่งการกระทำครั้งเก่าก่อน (กรรม) หรือแม้แต่กรรมอันเป็นปัจจุบันที่ขาดสตินั้นมำแดงผลเกิดเป็นความทุกข์ที่รุมเร้าใจกระหน่ำเป็นมรสุมชีวิต (ความปรุงแต่งจิต ณ ปัจจุบัน) ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็อาจทำให้เรารู้สึกท้อแท้ ถดถอยที่จะกระทำความดี ความเจริญนั้น นี้เป็นเหตุให้ความเจริญเสื่อมถอย
หากเพียงแต่เรามีสติอยู่กับปัจจุบัน เฝ้ามองตน มองใจของตน ณ เวลาที่ทุกข์กระทบใจให้ยิ่ง มองตนให้มากเพราะเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ใจของเราที่ไม่ไม่เข้าใจธรรมทั้งปวงว่าไม่มีอะไรที่ยั่งยืน แน่นอน แปรไปตามปัจจัย แล้วไปหลงยึดมั่นในอารมณ์ ความรู้สึก (ทุกข์) ณ เวลานั้นว่าช่างทุกข์เสียเหลือเกิน และมักจะไปเพ่งโทษผู้่อื่นที่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์นั้น
หากเราหันกลับมามองตัวเองให้มาก เพ่งโทษผู้อื่นให้น้อยลง สร้างเมตตาจิตให้เกิดกับตนด้วยการสร้างมุมมอง แง่คิดกับผู้เป็นปัจจัยที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ว่าแท้จริงแล้วเขาทั้งหลายก็เป็นผู้อยู่ในกองทุกข์ แล้วยังหลงสร้างความทุกข์ซับซ้อน ทับถมตนเองอีก เขาทั้งหลายเหล่าน่าสงสารกว่าเรานัก และที่สำคัญเหตุการณ์ที่เขาเป็นปัจจัยสร้างทุกข์ให้กับเรามันจบไปแล้ว ณ เวลาที่ผ่านมา เราเองต่างหากที่หลงยึดสิ่งที่เปลี่ยนไปด้วยความเขลาแห่งตนจนเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ความเจริญแห่งเราท่านทั้งหลายจะไม่มีวันเสื่อมถอยเลย
ดั่งคำกล่าวที่ว่า "คิดเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน" เราท่านทั้งหลายพึงมาร่วมเพียร หัด จัดสร้างความคิดใหม่ๆ ให้กับชีวิต ให้สมกับการที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา อันได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งปัญญา แห่งผู้รู้ตื่นและเบิกบานกันเถิด เรามาเป็นดอกบัวที่ชูช่อตระหง่านรับแสงแห่งตะวันเพื่อการเบ่งบานแห่งกลีบช่อกันเถิด


วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทางแห่งความดับทุกข์



นี่คือหนทางแห่งความดับทุกข์

คำคม ธรรมะ

สงบเย็น เป็นประโยชน์.



‎...สงบเย็น เป็นประโยชน์...
" งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน...สุขแท้มีแต่ในงาน
คนสร้างงาน งานสร้างคนด้วยผลของงาน
ไม่มีอะไรในชีวิต นอกจากกาย-จิต.. ชีิวิต-งาน "

วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อารมณ์



อารมณ์เพียงชั่ววูบ "ก็อาจนำทุกข์ที่ยาวนาน"

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ - ๓. บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา (ภาวนามัย ) 

คือการอบรมจิตใจในการละกิเลส ตั้งแต่ขั้นหยาบไป จนถึงกิเลสอย่างละเอียด ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้สมาธิปัญญา รู้ทางเจริญและทางเสื่อม จนเข้าใจอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด 

" ภาวนา " แปลว่า การทำให้มีขึ้น ทำให้เกิดขึ้น ได้แก่ การฝึกอบรมจิตใจให้เกิดความสงบ ขั้นสมาธิและปัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงข้อปฏิบัติไว้ ๒ ประการ คือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

สมถภาวนา คือ การฝึกอบรมจิตใจให้เกิด ความสงบ จนตั้งมั่น เป็นสมาธิ อารมณ์ อันเป็นที่ตั้ง แห่งการเจริญ สมถภาวนา ชื่อว่า กรรมฐาน มี ๔๐ ประเภท คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อรูป ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา และจตุธาตุววัฏฐาน(รายละเอียดในวิสุทิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒)

วิปัสสนาภาวนา คือ การฝึกอบรม เจริญปัญญา ให้เกิดความ รู้แจ้งใน สภาพธรรมที่ เป็นจริง ตามสภาพ ของไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กรรมฐาน อันเป็น ที่ตั้ง ของการ เจริญ วิปัสสนา ภาวนาได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจจ ๔ และปฏิจจสมุปบาท ๑๒

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้ว่า หนทางปฏิบัติ เพื่อการ เข้าไป รู้แจ้งลักษณ์ ของ สภาพธรรมทั้ง ๖ ประการ นี้ มีเพียง ทางเดียว ที่จะนำไปสู่ พระนิพพานได้ ทางสายเอกนั้นได้แก่ สติปัฏฐาน ๔
- กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การพิจารณาเห็นกายในกาย มี ๑๔ ข้อ
- เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การพิจารณาเห็นเวทนาในเสทนา มี ๙ ข้อ
- จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การพิจารณาเห็นจิตในจิต มี ๑๖ ข้อ 
- ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มี ๕ ข้อ

สำหรับ การเจริญภาวนา ในขั้น บุญกิริยาวัตถุ นี้ โดยทั่วไป ท่านหมายเอาเพียง มหากุศลธรรมดา แต่หากว่าผู้ใด ได้ศึกษา ข้อปฏิยัติ ให้มีความเข้าใจ ก่อนลงมือปฏิบัติ แล้วพากเพียรปฏิบัติ ให้ถูกต้อง ตามแนวทาง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้ ก็สามารถเป็นบันได ให้ก้าวไปถึงฌาน หรือมรรคผลได้

(รายละเอียดในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร ข้อ ๑๓๑ - ๑๕๒ และทีฆนิกาย มหาวรรค สติปัฏฐานสูตร ข้อ ๒๗๓ - ๓๐๐)
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้แนะนำให้พระราหุลเจริญภาวนาหกประการดังที่ปรากฎในมหาราหุโลวาทสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (13/145/114) ความว่า “ดูกรราหุล 
เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่จักละ "พยาบาท" ได้ 
เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละ "วิหิงสา" ได้ 
เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละ "อคติ" ได้ 
เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละ "ปฏิฆะ" ได้
เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละ "ราคะ" ได้ 
เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละ "อัสมิมานะ" ได้

บุญที่สำเร็จได้ด้วยการเจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ย่อมต้องได้รับอานิสงส์ ดังนี้
๑) มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม
๒) มีผิวพรรณผ่องใส
๓) มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
๔) มีความจำดี และกำลังปัญญาว่องไว
๕) เป็นคนใจคอเยือกเย็น
๖) เป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็น
๗) มีบุคลิกอันน่าศรัทธา
๘) เกิดในตระกูลดี
๙) มีบุคลิกสง่างาม
๑๐) มีมิตรสหายมาก
๑๑) เป็นที่เคารพยำเกรงของคนทั่วไป
๑๒) เป็นที่ชื่นชอบของบัณฑิต
๑๓) สมบูรณ์ด้วยปัจจัย ๔
๑๔) ปราศจากอกุศลทั้งปวง
๑๕) ปลอดภัยจากศาสตราวุธ
๑๖) มีอายุยืน
๑๗) ตายแล้วเกิดในสุคติภูมิ

นิทานธรรม วันพระ

.....พรานคงและคนรุ่นเก่า ๆ ให้สัจจะปฏิญาณว่า ถึงจะล่าสัตว์ก็จริง แต่จะไม่ล่าและฆ่าลิง ค่าง บ่าง ชนี เพราะสัตว์เหล่านี้เมื่อถลกหนังออกแล้ว มีสภาพคล้ายเด็กทารกแดง ๆ และเลือกไม่ฆ่า ช้าง เต่า เพราะสัตว์ที่ว่านี้ อายุยืน การฆ่าสัตว์ที่อายุยืนนั้นท่านว่า ...ชดใช้เวรใช้กรรมกันชาติตกนรกหลายขุมนัก หลายคนพูดเล่น ๆ ว่า กรรมนั้นมนุษย์สร้างกันแยะเหลือเกินมากเสียจนล้นเมืองนรกแล้ว ยังไงก็ไม่เบาบางลง ดังนั้นเมื่อมนุษย์ยังไม่วางมือจากกรรม ก็ให้กรรมนั้นจัดการลงโทษเสีย แต่เมืองมนุษย์เพื่อแบ่งเบาเมืองนรกบ้าง คนที่ไม่เชื่ออาจจะหัวเราะเยอะว่างมงาย พวกโบราณล้าสมัย เป็นความเชื่อของบุคคล เพราะอะไรๆที่ถึงขั้นเป็นเวรเป็นกรรมต่อกันนั้นมักจะทันตาเห็นในชาตินี้ภพนี้นี่แหละ



นายชาติมีอาชีพเก็บมะพร้าวขาย เพราะพ่อของนายชาติมีที่ดินอยู่หลายไร่ เป็นมรดกจากพ่อแม่ทิ้งไว้ให้ การหากินเลี้ยงชีพของนายชาติจึงไม่ฝืดเคือง เขาได้แต่งงานกับสาวหมู่บ้านเดียวกันและมีลูกด้วยกัน 2 คน นิสัยของนายชาติค่อนข้างไปทางเกเร ชอบดื่มเหล้าเล่นการพนัน พรรคพวกเพื่อนฝูงของนายชาติมีนิสัยคล้ายคลึงกัน


เป็นความจริงที่ว่า คนดื่มเหล้าเก่งมักทำอาหารเก่งและอาหารแปลก ๆ สิ่งที่โปรดปรานมากที่สุดก็คือเต่า สัตว์ที่เคลื่อนไหวได้ช้า ไม่มีอาวุธป้องกันตัว ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครจะเอาเต่าย่างสด หรือว่าจะให้นายชาติทำอย่างไรกับเต่าก็บอกมานายชาติทำได้ทุกอย่างขอให้บอกมา การฆ่าเต่าเป็นพฤติกรรมที่แปลก เต่าตะพาบน้ำนั้นนายชาติกินเป็นประจำ วันไหนมีติดตลาดนัด นายชาติจะให้ภรรยาไปเหมาเต่าตัวเล็ก ๆ มา สรุปแล้วเขามีผัดเนื้อเต่า ยำเต่า เป็นกับแกล้มประจำ 

วิธีการทำเต่าเป็น ๆ เอาเนื้อออกจากกระดองนั้น นายชาติจะก่อกองไฟแล้วเผาเต่าทั้งกระดองทั้งตัวความร้อนทำให้เต่าดิ้นทุรนทุราย นายคำจะเอาก้อนหินวางทับเพื่อไม่ให้เต่าหนี จนกระทั่งเต่าตาย


เคยมีคนถามนายชาติว่า

“ อย่างนี้เต่ามันก็ร้อนสิ ” 

นายชาติตอบว่า “ เออ...ก็ร้อนซิว๊ะ ไม่งั้นเต่ามันจะตายเหรอ ” 

คำตอบของนายชาติมิได้แสดงถึงความเจ็บปวดที่เต่าได้รับ ตรงกันข้าม กลับกลายเป็นสิ่งที่ภูมใจในการกระทำเสียอีก


พวกที่ถามต้องส่ายหน้าและแสนที่จะสงสารเต่าที่จะต้องโดนโยนเข้ากองไฟ..... “ เฮ้อ...ไม่น่าทำมันเลย ” นายชาติกลับตอบว่า “ ก็ของกินอร่อยนี่หว่า.. .” “ ไม่กลัวบาปกลัวกรรมบ้างเหรอ ” “ อิ่มโว้ย....บาปกรรมไม่รู้จัก ” เป็นคำตอบที่คนในหมู่บ้านได้ยินเสมอจนชินหู ๑ ปีต่อมา เดือน ๑๐ ฤดูน้ำหลาก ทางเหนือจะมีน้ำท่วมเต่าใหญ่ที่มีรูปแกะสลักกระดองด้านหลังไว้เป็นชื่อท่านสมภารคนเก่าซึ่งมรภาพไปแล้ว ลักษณะขนาดของเต่าบ่งบอกถึงอายุเต่าตัวที่ว่านี้มากกว่าอายุนายชาติเสียอีกแน่นอน



ปีนั้นน้ำเหนือมากจนเต่าตัวนั้นหลุดออกมาจากบ่อ ไม่มีใครรู้ว่าไปไหน ชาวบ้านมีความห่วงเต่าตัวนั้นได้สอบถามยังที่ต่าง ๆ ชาวบ้านถือว่าเต่าตัวนี้เป็นเต่าศักดิ์สิทธิ์ มีคนเคยถูกหวยมาแล้ว เพราะได้มาบนบานกราบไหว้เต่าและก็ได้ผลตามที่ขอกันก็หลายเจ้า พวกที่เคารพเต่าว่าเป็นเต่าศักดิ์สิทธิ์ได้พากันไปบนบานตามเจ้าที่ต่างๆเพื่อว่าให้เต่าตัวนี้ได้กลับมาอยู่ที่วัดเหมือนดังเดิม นายชาติรู้เรื่องนี้ทั้งหมดด้วยความขบขันที่ชาวบ้านเซ่อซ่าในในสายตาของนายชาติยิ่งนัก เพราะที่จริงแล้วนายชาติได้จับเอาเต่าที่ชาวบ้านตามหานั้นมาขังไว้ 

บ้านนายชาติไม่ได้ห่างจากวัดสักเท่าไหร่ วันนั้นเขากำลังจับปลาอยู่ในสวน ได้พบเต่าที่หลุดมาจากวัด สิ่งแรกที่คิดก็คือ ผัดเผ็ดเต่า ต้มยำเต่า และเนื้อเค็ม ตามรูปแบบของคนที่ไม่คิดถึงเวรกรรมจะแกล้มเหล้าท่าเดียว เรื่องนี้ก็รู้กันในแวดวงญาติ ๆ ไม่กี่คน ทุกคนไม่เห็นด้วยกับเจตนาที่นายชาติจะฆ่าเต่าเอาเนื้อมากิน ทุกคนห้ามปราม และให้คืนเต่าแก่วัดเสีย

นายชาติกลับเห็นเป็นเรื่องตลกแทนที่ตามที่ญาติบอก กลับขอร้องทุกคนที่รู้อย่าแพร่งพรายให้รู้เป็นอันขาด และแล้ววันนั้นก็มาถึง นายชาติก่อไฟ พร้อมกับมัดเต่าติดกับแป๊บน้ำเหล็กขนาด ๒ นิ้ว ยาวเกือบเมตร เพราะเต่ามีขนาดใหญ่เกือบเท่ากระทะใบบัว ที่ชนบทให้หุงข้าวกระทะ ภาพที่ชวนเวทนาคือภาพเต่าถูกนำมาเผาไฟ แบบหมูหัน นายชาติได้พรรคพวกที่ชอบเนื้อเต่ามาร่วมกรรม เพราะคอเหล้าเหมือนกัน

ไฟนั้นลุกโหมแรง จนเพื่อนนายสินให้ลาไฟเต่าจะไหม้ พร้อมกับลากเต่าออกมาจากกองไฟ แต่ผิดคาด เต่านั้นแสนจะทนทายาท พอพ้นจากการเผาก็เกียกตะกายดิ้นรนด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัส แทนที่นายชาติจะมีจิตเวทนา กลับด่าซ้ำลงไปอีกว่า “ ตายยากนักหรือมึง ... เดี๋ยวรู้เอง ”

ไม่พูดเปล่า นายชาติผู้มีจิตสุดบาปก็คว้ามีดปาดตาลอันคมกริบหมายจะเชือด แต่เต่ารู้ทันจึงหดหัวอยู่ในกระดองจะทำยังไงมันก็ไม่ยอมโผล่หัวออกมา จนแล้วจนรอด ในที่สุดนายชาติใช้คีบเหล็กขนาดเขื่องแหย่เข้าไป พร้อมกับคีบจมูกเต่าผู้น่าเวทนาออกมา และใช้มีดปาดตาลอันคมกริบเชือดคอเต่าจนขาด เลือดพุ่งเป็นน้ำ เต่ายื่นขาดิ้น แต่นายชาติกลับเห็นเป็นเรื่องน่ารำคาญ หลังจากนั้นก็แปรสภาพเป็นอาหารจานเด็ดแกล้มเหล้าสนองกิเลส

เพียงอาทิตย์เดียวผ่านไปกรรมเริ่มคิดบัญชีสะสางทันที มันเกิดขึ้นเมื่อนายชาติกำลังขึ้นมะพร้าวที่สวน เกิดพลาดร่างลอยละลิ่วตกลงมาหลังมาหลังฟาดกับคันดินขอบท้องร่อง อาการหนัก นายชาติตกจากต้นมะพร้าวสูงถึง ๑๒ เมตร ไม่มีผู้ใดเห็นเหตุการณ์ นายชาติคลานกลับบ้านด้วยความลำบากเพราะกระดูกหลังหัก ถึงบ้านก็ลุกไม่ได้ สลบอยู่หลายชั่วโมงจึงลุกขึ้นมา

ลูกเมียมาเห็นจึงช่วยกันนำขึ้นบนบ้าน แต่เนื่องจากนายชาติเป็นคนมีฐานะดี จึงให้หมอมารักษาที่บ้านซึ่งต้องเข้าเฝือกที่สันหลัง นอนขยับเขยื้อนตัวไม่ได้ ญาติ ๆ ลงความเห็นว่าเป็นเพราะกรรมที่มันตามมาทัน ที่นายชาติได้ฆ่าเต่ามานักต่อนักแล้ว ถึงได้เป็นเช่นนี้ นายชาติไม่พอใจตวาดไปว่า

“รำคาญจริงโว้ย...ข้ากินเต่ามาตั้งแต่หนุ่มไม่เห็นเป็นอะไร กะอีแค่เต่าตัวใหญ่ตัวเดียว เป็นเรื่องพูดกันน่ารำคาญ มันจะสำคัญกันสักเท่าไหร่กันเชียว ”

ญาติ ๆ นั้นรู้กันเต็มอก แต่ก็จนใจเพราะนายชาติเป็นคนหัวดื้อ และอาการก็ไม่ดีขึ้นเลย เขาอยู่ในสภาพเป็นอัมพาต จนเย็นวันหนึ่งเกิดไฟลุกไหม้ท่วมบ้านของนายชาติ โดยเฉพาะตรงที่เขานอน ชาวบ้านพากันแตกตื่นมาช่วยกันดับไฟกันโกลาหล กว่าจะดับไฟได้นายชาติก็เกือบกลายเป็นศพ ไฟไหม้ตามตัวพุพอง หนำซ้ำโครงหลังคาบ้านก็ได้หักลงมาตีหน้าจนดั้งจมูกหักอีก

สภาพนายชาติตอนนี้เหมือนซากศพที่ยังหายใจได้ หลังจากเกิดเหตุแล้ว จึงพบว่าก่อนเกิดเหตุนายชาติคงได้ตะกุยตะกายจะหยิบสิ่งของ มือซึ่งประสาทควบคุมไม่ได้จึงไปปัดตะเกียงน้ำมันล้ม ไฟจึงลุกไหม้ที่เขานอน เหมือนกรรมมาซ้ำเติม แผลจากกระดูกยังไม่หาย ดั้งจมูกที่หักก็เริ่มเน่าเป็นหนอง สารพัดหมอทั้งหมอหลวง หมอชาวบ้านก็จนปัญญา 

โรคเกิดจากเวรกรรมนั้นไม่ว่าจะเยียวยาด้วยอะไรก็หายยากหรือไม่หายเลย เวลานอนก็ละเมอร้องโวยว่า เห็นเต่ามาคอยรับวิญญาณเต็มไปหมด หลังจากทรมานได้เดือนเศษ ๆ นายชาติทุรนทุรายเป็นที่น่าสงสารแก่ญาติ ๆ ก่อนจะสิ้นลมสภาพนั้นไม่แตกต่างอะไรกับเต่าที่เผาไฟ

ยัง.....บัญชียังถูกสะสางอีกในอบายภูมิแน่นอน และจะต้องเกิดมาให้เขาเผาไฟเขาฆ่าเชือดคออีกจนกว่าจะครบวงจรกรรมที่สร้างไว้พร้อมดอกเบี้ยกรรม ตามกฏของกรรม

น้ำกับทิฐิ

นานมาแล้วมีชายคนหนึ่งชื่อว่า...ทิฐิ... เขาเป็นคนที่มีนิสัยอวดดื้อถือดีไม่ต่างจากชื่อ เพราะเมื่อได้ลองเชื่อมั่นในสิ่งใดแล้ว ทิฐิคนนี้ก็จะยึดม...