การเจริญภาวนา


   การเจริญภาวนา ต้องหมั่นตรวจสอบจิตของตัวเองและรู้ประเมิน

การที่เราได้เจริญภาวนามายาวนานแค่ไหนก็ตามในรูปแบบไหนก็ตาม จะต้องรู้ประเมินและตรวจสอบจิตของตนเองว่ายังมีกิเลสคือความอยาก เหลืออยู่มากน้อยเพียงใด ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่มากน้อยเพียงใด ยังมีอัตตาและอคติในจิตของตนเองอยู่เพียงใด การเป็นอยู่กับคนในสังคมนี้ ยังมีความรู้สึกยินดียินร้าย, ความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ, หรือความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจ, ต่อจิตของเรามากน้อยเพียงใด เราพอเห็นจิตของเราได้หรือไม่ ว่ามีความรู้ปล่อยวางในอารมณ์ต่างๆที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หรือไม่ ถ้าเห็นว่ายังไม่มีอะไรที่ลดลงเลยในจิตของเรา ก็ต้องมาพิจารณาได้แล้วว่าการภาวนาของเราในรูปแบบนี้ ไม่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะไม่สามารถลดกิเลสคือความอยาก ไม่ลดความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้เลย มีแต่ความเก็บกฎเอาไว้เฉยๆ เหมือนหินทับหญ้าเอาไว้เอง เมื่อยกหินออกหญ้าก็งอกขึ้นมาใหม่อีก เพราะไม่ได้กำจัดกิเลสคือความอยากเลย

ฉะนั้น จึงควรหันมายึดแนวทางแห่งอริยมรรคในการเจริญภาวนาได้แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงทำได้แล้วจึงนำมาเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รู้และนำไปปฏิบัติตาม และจะให้ผลเร็วในการเจริญภาวนา เพราะมุ่งให้ละกิเลสคือความอยาก หรือบาปอกุศลที่เป็นรากเหง้าของความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อเราได้ภาวนาจนมีสติรู้ปล่อยวางในกิเลส และความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้แล้ว จิตของเราก็จะเกิดเป็นบุญคือความสบายใจ เป็นกุศลคือความผ่องใส มีความสงบและนิ่ง และการภาวนานี้ยังสามารถทำได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวันในเวลาต่างๆ ของการดำรงชีวิตปกติ เพราะจิตของเราจะมีสติเกิดรู้ปล่อยวางในอารมณ์ต่างๆที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้เสมอไม่เกิดยินดียินร้าย พอใจหรือไม่พอใจ จึงทำให้กิเลส ความโลภ โกรธ หลง เบาบางลงได้ และยังตามดูรู้เห็นจิตของตนได้ตลอด
จึงควรมีความเพียรชอบในการภาวนาไว้เสมอว่า “อย่ายินดียินร้าย..อย่าว่าร้ายใคร..อย่าคิดร้ายใคร..” อันเป็นเหตุให้จิตมีสติรู้สกัดกั้นบาปอกุศลไม่ให้เกิดกับจิต จิตของเราก็จะมีแต่ความสงบสุขและนิ่ง และยังทำให้เกิดอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา นี่แหละคือผลของการเจริญภาวนาตามอริยมรรค ดังนี้.

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทางสายกลาง

อุปสรรคของสมาธิ

หลวงปู่มั่นเล่าเรื่องพระธาตุพนม