ความจริงที่ถูกซ่อนเร้นในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ

        
        หลักการปฏิบัติจิตภาวนา มีผู้สนใจได้เที่ยวไปเสาะหาศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ไปทั่วในจตุรทิศ คือทิศทั้ง ๔ แต่ก็ไม่ค่อยได้ประสบผลสำเร็จต่อการปฏิบัติในจิตภาวนา ที่จะต้องนำมาใช้อยู่กับปัจจุบัน เพราะยังเห็นจิตของตนไม่รู้ปล่อยวางในอารมณ์ คือกิเลสทั้งหลายได้แก่ความอยาก จิตใจยังคงหลงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ อยู่อย่างไม่รู้จางคลายลงได้ จนเกิดความขุ่นมัว เศร้าหมองว้าวุ่น ไม่สงบ เพราะบาปอกุศล ความจริงที่ถูกซ่อนเร้นอยู่และถูกมองข้ามไปเสมอ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในหลักจิตภาวนาที่ได้ถูกบัญญัติไว้ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ

ข้อว่าดำริชอบ ข้อนี้แหละคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ได้ให้ไว้กับชาวพุทธในการเจริญจิตภาวนาเป็นคำสั่งสอนที่ให้เราต้องทำ เพื่อให้มีสติในการระงับบาปอกุศลไม่ให้เกิดขึ้น ที่มีหลายท่านตีความออกมาเป็นการปฏิบัติทางกายกรรม ที่แท้แล้วคือการปฏิบัติทางจิตภาวนาหรือมโนกรรมต่างหาก การดำริชอบที่พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวไว้ให้ดำริชอบ คือมีอยู่ ๓ หัวข้อธรรมได้แก่ ดำริในการออกจากกาม ๑, ดำริในการไม่มุ่งร้าย ๑, ดำริในการไม่เบียดเบียน ๑,

ที่หลวงพ่อได้ถอดความออกมาเป็นธัมมะภาวนาเพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ลองเจริญดูว่า “อย่ายินดียินร้าย.อย่าว่าร้ายใคร.อย่าคิดร้ายใคร.” ลองดำริชอบตามนี้ดูนะ ดำริคือการนึก-คิดไว้ในใจอยู่เสมอๆจัดเป็นความเพียรชอบ จึงเรียกว่าธัมมะภาวนา จนมีสติรู้สกัดกั้นบาปอกุศลไม่ให้เกิดขึ้นในใจของเราอย่างน้อยต้องให้ได้ ๓๐ ครั้งต่อวัน เราจะได้เห็นจิตของเรารู้ปล่อยวางในอารมณ์คือกิเลสได้จริงๆ เราจะเห็นจิตของเราตั้งมั่นอยู่ในความสงบนิ่ง ที่เรียกว่ากัมมัฏฐานได้จริงๆ และเห็นจิตของเรามีความผ่องใสที่เป็นกุศล มีความสบายใจคือเป็นบุญ จนเกิดปัญญารู้ในสภาวธรรมต่างๆได้จริงๆที่เรียกว่าวิปัสสนา อันเกิดจากอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา ดังนี้.

ขอเจริญพร โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทางสายกลาง

อุปสรรคของสมาธิ

หลวงปู่มั่นเล่าเรื่องพระธาตุพนม