วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556
การเจริญธรรม
หากเปรียบสังสารวัฏเสมือนการเดินทางของใจอันเนิ่นนาน หาที่เบื้องต้นและที่สิ้นสุดไม่ได้ เมื่อเราพบพระธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว จะดีไหมถ้าเราจะไปถึงจุดหมายที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้ ได้อย่างรวดเร็วและไม่เนิ่นช้า เสมือนดั่งการเดินทางในนิทานเรื่องหนึ่งดังจะแสดงต่อไปนี้
มีชายสี่คนเป็นเพื่อนรักกัน ทุกคนมีร่างกายพิการต่างๆกัน มีนายใบ้ นายหนวก นายบอด และนายอ่อนที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากปัญญาอ่อนนั่นเอง ทั้งสี่อาศัยอยู่ในบ้านร้างผุพังแห่งหนึ่ง
ทั้งสี่เป็นคนอยู่ในศีลในธรรมแต่มีฐานะยากจนมากเนื่องจากความพิการแต่กำเนิด เทวดาบนสวรรค์เห็นในความดีจึงได้แปลงกายเป็นชายชรามาหาชายทั้งสี่ในเช้าวันหนึ่ง
ชายชราผมขาวหนวดเครายาวเอ่ยขึ้นว่า”เออแน่ะพ่อหนุ่มข้าเห็นใจในความดีแต่ว่าต้องมามีสภาพชีวิตยากจนข้นแค้นแสนสาหัส
ถึงแม้จะพิการแต่ก็สามัคคีรักใคร่ช่วยเหลือกันดีเหลือเกิน ข้ามีแผนที่เดินทางไปสู่ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ กว้างใหญ่ไพศาล เปรียบดังสวรรค์น้อยๆบนดินมีแต่เฉพาะคนดีๆมีเมตตา และเมื่อเจ้าไปถึงแล้วก็จะมีที่ดินทำกิน มีอาหารไม่ต้องอดๆอยากอย่างนี้อีก แต่ถึงจะมีแต่ความสุขความสบายก็ตาม แต่มีคนไม่มากนักที่จะสามารถฝ่าด่านอันยากลำบากไปถึงได้ เอ้านี่แผนที่รับไปซะ”
ทั้งสี่รับแผนที่มาด้วยความดีใจ กล่าวแสดงความขอบคุณกับชายชรา
นายบอดเจ้าปัญญาจึงถามว่า” เอ แล้วทางที่ไปนี่มันยากลำบากแค่ไหนล่ะครับ”
ชายชรา” จำคำของลุงไว้นะ หนทางนี้จะว่าไกลก็ไม่ไกล จะว่าใกล้ก็ไม่ใกล้ ถ้าอยากไปเร็วๆก็จะช้า ถ้าประมาทมัวแต่ชักช้าก็จะไปไม่ถึง ทางนี้เจ้าต้องเข้าไปในป่าทึบอันเป็นที่อยู่ของมาร และเส้นทางยังเป็นทางเขาวงกตอีกด้วย เธอต้องสังเกตว่าเดินวนอยู่กับที่ไม่ไปไหนหรือเปล่าตลอดเส้นทาง มารผู้รักษาจะมีอยู่ตลอดเส้นทาง มารนี้นอกจากจะมีฤทธิ์เดชแล้ว ยังรู้อีกว่าเราคิดอะไรอยู่ด้วย มันจะหรอกเราไม่ให้เดินต่อไปด้วยการล่อให้สงสัย หรอกให้หลงเผลินกับสิ่งต่างๆ มีแต่คนที่มีจิตใจมั่นคงและแน่วแน่เท่านั้นที่จะไปบนเส้นทางนี้ได้ ฉะนั้นจงจำไว้ให้ก้าวไปเรื่อยๆ จงเป็นคนช่างสังเกตถึงเส้นทางเขาวงกตนั้น และเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นไม่ว่าจะน่าพอใจเพียงใด ให้มีสติรู้ทันอย่าอยาก อย่าสงสัยให้มันผ่านเราไป มีความพยายามเดินไปเรื่อยๆ โดยไม่รีบ แล้วเส้นทางจะปรากฏชัดกับเธอเอง”เมื่อพูดจบชายชราก็เดินจากไป
ทั้งสี่คนจึงเริ่มออกเดินทางทันที ในวันแรกที่ออกเดินทางต้องเดินผ่านป่าทึบมารได้บันดาลให้ป่ารกทึบกลายเป็นอุทยานที่น่ารื่นรมย์ มีน้ำตกมีสวนดอกไม้ มีผลไม้สุกงอมมากมาย ทำให้คนทั้งสามยกเว้นนายบอดหยุดเดินทันที แต่แล้วนายบอดก็กล่าวขึ้นว่า
“อ้าวจะหยุดเดินกันทำไมล่ะ มัวแต่ชักช้าเดี๋ยวก็ไปไม่ถึงไหนหรอก”
คนทั้งสามจึงได้สติเดินต่อไป
ต่อมาก็ถึงเมืองๆหนึ่งกำลังมีการแสดงดนตรีอยู่ เมื่อชายทั้งสามคนยกเว้นนายหนวกได้ยินก็เสมือนต้องมนต์หลงไหลเคลิบเคลิ้มกับเสียงดนตรีจนแทบสิ้นสติ จนนายหนวกต้องรีบดึงพวกเขาเพื่อเดินต่อไป
พอผ่านมาสักพักก็มีชายรูปร่างสูงใหญ่สี่คนถืออาวุธมีทั้งหอกและดาบ มายืนด่าชายทั้งสี่อยู่ ทั้งๆที่ไม่รู้จักกัน ชายทั้งสามบันดาลโทสะ กำลังจะด่าตอบ แต่นายใบ้ก็รีบดึงข้อมือเพื่อนทั้งสามให้วิ่งหนีเพื่อเอาชีวิตรอด
เมื่อเดินมาได้สักระยะหนึ่ง ก็มาถึงทางแยก ทางซ้ายเป็นทางเส้นใหญ่คงเป็นเพราะมีคนใช้เส้นทางนี้มากนั่นเอง เขียนไว้ว่า เมืองใหม่ สำหรับผู้ต้องการความร่ำรวย มีที่พักฟรี อาหารฟรี รักษาโรคฟรี อีกทางเป็นถนนเล็กๆ เขียนไว้ว่า เส้นทางสู่ป่าอันสงบเงียบ เมื่อทั้งสี่อ่านดูป้ายแล้ว ก็ปรึกษากันเป็นการใหญ่ ขณะที่ยังตกลงกันไม่ได้ นายอ่อนก็พูดขึ้นว่า
“แผนที่บอกว่าไปทางขวาก็ไปกันเหอะ มัวเถียงอะไรกัน อ่อนฟังแล้วไม่เข้าใจ” คนทั้งสามจึงได้สติ จึงเดินมุ่งสู่ป่าแห่งนั้น
จริงดังที่ชายชราบอก เมื่อเข้าสู่ป่าแล้วด้วยบรรยากาศอันเยือกเย็นลมพัดอ่อนๆสบายๆ ทุกคนก็รู้สึกหายเหนื่อยเมื่อยล้า ในป่ามีผลไม้ป่าสุกงอมหอมหวาน มีนกกาและสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยมากมาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าไม่ค่อยมีคนมารบกวน หรือเข้ามาวุ่นวาย ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนส่วนใหญ่มุ่งหวังความสุขสบายทางวัตถุในเส้นทางสายใหญ่มากกว่า ทุกสิ่งในป่านี้จึงยังคงเป็นสภาพเดิมของมัน
เมื่อออกจากป่าแล้วก็ไปมีที่ราบเชิงเขามีน้ำตกไหลลงมาเป็นลำธารและแอ่งน้ำ มีหมู่บ้านเล็กๆตั้งอยู่ ใกล้ๆ เมื่อเดินเข้าหมู่บ้านคนทั้งสี่ได้พบชายชราอีกครั้ง ท่านจึงกล่าวทักทายคนทั้งสี่ว่า
“โอ ข้าดีใจมากที่เจ้าสามารถมาถึงได้ ในเวลาอันรวดเร็ว ข้อขอแสดงความยินดีและต้อนรับสู่ดินแดนอันสงบและร่มเย็น”
“ทำไมพวกท่านจึงสามารถมาได้อย่างรวดเร็ว บางคนกว่าจะมาที่นี้ได้ใช้เวลานานหลายปีมาก บางคนชั่วชีวิตหนึ่งยังมาไม่ถึงเลย” ชายวัยกลางคน คนหนึ่งในหมู่บ้านถาม
“พวกข้าก็ไม่รู้เหมือนกัน” ชายทั้งสี่ตอบอย่างงงๆ
“แต่ว่าข้าพอนะรู้ นั้นข้าจะตอบให้ฟังนะ” ชายชราตอบ
"ในการเดินทางของพวกเจ้านี้ก็เหมือนการเดินทางของใจไปบนเส้นทางธรรม เคล็ดลับก็คือ การเดินทางด้วยสติสัมปชัญญะ เมื่อคนหนึ่งหลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปคิด ด้วยอำนาจของมารที่มาหลอกล่อให้ล่าช้าหรือหยุดเดิน ก็จะมีคนที่มาเตือนสติให้เดินต่อไป ซึ่งในคนธรรมดาจะไม่สามารถมีสติได้ทัน จึงใช้ชีวิตหมดไปกับความโลภ ความโกรธ ความหลง ในเรื่องต่างๆโดยไม่รู้ว่าตัวเองหลงอยู่ อีกทั้งคนทั่วๆไปยังมีแต่ความลุ่มหลงในวัตถุ เงินทอง ชื่อเสียง ฯลฯ จึงหมดเวลาในชีวิตชาติหนึ่งๆไปอย่างน่าเสียดาย ใช้ชีวิตโดยไม่ได้ทำให้จิตใจพัฒนาแต่อย่างใด มีแต่จะทำบาปกรรมให้จิตใจต่ำลง พวกที่พอจะคลายความลุ่มหลงในโลกและวัตถุลงบ้าง ก็ออกเดินทางมาตามสายพระธรรม แต่ก็มาติดใจสงสัยในนิมิต แสงสีเสียง หลงติดในความพอใจ ไม่พอใจในสภาวะธรรมต่างๆที่เกิดขึ้น บ้างก็ใจร้อนอยากให้ถึงไวๆ ก็เลยมีกิเลสเพิ่มขึ้นมาถ่วงความก้าวหน้าไว้ กว่าจะมีสติถอนความหลงผิดในเรื่องต่างๆก็ช้าและเนิ่นนานมาก ฉะนั้น การช่างสังเกตถึงกิเลสที่เข้ามาและการมีผู้ชี้นำที่ดี การมีสติในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ความไม่จงใจเพ่งกาย เพ่งใจจนเคร่งเครียด ทำแบบรู้ห่างๆแต่ไม่ห่างรู้ ขยันก็ทำไม่ขยันก็ทำไม่ต้องตั้งความหวังว่าจะต้องรู้ ต้องเห็น ต้องได้อะไรมา เพียงแต่มีอะไรก็รู้ พอรู้ก็ปล่อยวางไปเรื่อยๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเดินทางของใจสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้นที่ไม่เนิ่นช้า อันเป็นเป้าหมายในที่สุด”
พระศาสดากล่าวไว้ว่าเป็นบุญสูงสุดที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ถ้าได้พบแล้วเดินทางแล้วก็ขอให้มีความเจริญในธรรม มีความพากเพียรอยู่ในธรรม มีความสงบเย็น และขอให้เป็นการเดินทางของใจที่ไม่เนิ่นช้านะครับ
5 สุขที่ควรรู้
สำหรับพี่น้องประชาชนผู้สนใจในธรรม โปรดทำความเข้าใจว่าความสุขความสำเร็จต่างๆในชีวิตที่แต่ละคนแต่ละท่านมี ล้วนเกิดจากเหตุที่เราประกอบขึ้น หาใช่เพราะ “เทวามาพลอยผสม พระพรหมมาช่วยลิขิต, ญาติมิตรมาดลบันดาล” ก็หาไม่ นักปราชญ์ท่านหนึ่งกล่าวไว้น่าคิดว่า...
เป็นเรื่องของ “การเสาะหา” ไม่ใช่ “เกิดมาเป็น”
เป็นเรื่องของ “การต่อสู้” ไม่ใช่ “นั่งดูดวง”
เป็นเรื่องของ “ความเชี่ยวชาญ” ไม่ใช่ “โชคช่วย”
เป็นเรื่องของ “การฝึกฝน” ไม่ใช่ “บุญหล่นทับ”
เป็นเรื่องของ “ความสามารถ” ไม่ใช่ “วาสนา”
เป็นเรื่องของ “พรแสวง” ไม่ใช่ “พรสวรรค์”
จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของคน หาได้มาจากสิ่งภายนอกไม่ แต่มาจากตัวเราเองทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ชีวิตที่จะสดใสไพโรจน์มีความก้าวหน้า ต้องดำเนินตามหลักพุทธวิธีแล้วท่านจะมีสุขทั้ง ๕ ระดับ คือ
๑. ทำดีมีสุข...ต้องประกอบด้วยคุณธรรม คือ
ละชั่ว - เว้นจากกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ประพฤติชอบ - ดำรงอยู่ในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
ประกอบความดี - เจริญอยู่ในทาน ศีล ภาวนา, ศีล สมาธิ ปัญญา
มีระเบียบวินัย - รู้จักควบคุมพฤติกรรมของตน มิให้เป็นทุกข์โทษแก่ผู้อื่น
๒. มั่งมีศรีสุข...ต้องประกอบด้วยคุณธรรม คือ
ขยันหา - ไม่เกียจคร้านในการหาเลี้ยงชีพ
รักษาดี - ไม่สุรุ่ยสุร่าย หรือจับจ่ายในทางไม่จำเป็น มิฉะนั้น จะเข้าในลักษณะที่ท่าน
กล่าวว่า “ขยันแต่ไม่ประหยัด ขจัดความจนไม่ได้” และอีกคำหนึ่งว่า “อยากรวยต้องขยัน อยากมีหลักฐานต้องประหยัด”
มีกัลยาณมิตร - ไม่คบคนที่จะนำพาหายนะมาสู่เรา เพราะ “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตๆ พาไปหาผล”
เลี้ยงชีวิตเหมาะสม - ไม่เสียเกินได้ ไม่ใช้เกินมี แต่ใช้ให้พอดีกับฐานะ เพราะ “ถ้าขาดความพอดี ท่านจะเป็นหนี้ตลอดกาล”
๓. สมบูรณ์พูนสุข... ต้องประกอบด้วยคุณธรรมคือ
ไม่มีหนี้สิน - เพราะรู้จักอดทน อดกลั้น อดออม จึงไม่อดอยาก
พอกินพอใช้ - ไม่ขาดแคลน เพราะอำนาจการรู้จักแบ่งกินแบ่งเก็บ
ไร้โรคโศกภัย - ปราศจากโรคาพยาธิและกิเลสเบียดเบียน เพราะอำนาจอนามัยทั้งทางกายและจิต
จิตใจเยือกเย็น - ด้วยอำนาจขันติธรรม และเมตตาธรรม
๔. อยู่ดีมีสุข...ต้องประกอบด้วยคุณธรรม คือ
โอบอ้อมอารี - เจ็บเยี่ยมไข้ ตายเยี่ยมผี มีช่วยเหลือ ไม่แล้งน้ำใจ
วจีไพเราะ - พูดจาอ่อนหวาน พูดประสานสามัคคี พูดมีสาระ
สงเคราะห์ทุกคน - การเสียสละ เกื้อหนุน ด้วยกรุณา ยังโลกาให้เป็นสุข
วางตนพอดี - ไม่มีมานะทิฐิ เย่อหยิ่งหรือแข็งกระด้าง “ไม่เป็นท้าวพระยาลืมก้น ต้นไม่ลืม
ดิน ปักษินลืมไพร”
๕. อยู่เย็นเป็นสุข...ต้องประกอบด้วยคุณธรรมคือ
รักกัน - ด้วยอำนาจเมตตาธรรม
ช่วยเหลือกัน - ด้วยอำนาจกรุณาธรรม
ไม่ริษยากัน - ด้วยอำนาจมุทิตาธรรม
ไม่ทำลายกัน - ด้วยอำนาจอุเบกขาธรรม
ทั้งหมดนี้เป็นพุทธวิธีสร้างสุขโดยอาศัยหลักพุทธธรรมดังกล่าวแล้ว
การเจริญภาวนา
การเจริญภาวนา ต้องหมั่นตรวจสอบจิตของตัวเองและรู้ประเมิน
การที่เราได้เจริญภาวนามายาวนานแค่ไหนก็ตามในรูปแบบไหนก็ตาม จะต้องรู้ประเมินและตรวจสอบจิตของตนเองว่ายังมีกิเลสคือความอยาก เหลืออยู่มากน้อยเพียงใด ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่มากน้อยเพียงใด ยังมีอัตตาและอคติในจิตของตนเองอยู่เพียงใด การเป็นอยู่กับคนในสังคมนี้ ยังมีความรู้สึกยินดียินร้าย, ความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ, หรือความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจ, ต่อจิตของเรามากน้อยเพียงใด เราพอเห็นจิตของเราได้หรือไม่ ว่ามีความรู้ปล่อยวางในอารมณ์ต่างๆที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หรือไม่ ถ้าเห็นว่ายังไม่มีอะไรที่ลดลงเลยในจิตของเรา ก็ต้องมาพิจารณาได้แล้วว่าการภาวนาของเราในรูปแบบนี้ ไม่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะไม่สามารถลดกิเลสคือความอยาก ไม่ลดความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้เลย มีแต่ความเก็บกฎเอาไว้เฉยๆ เหมือนหินทับหญ้าเอาไว้เอง เมื่อยกหินออกหญ้าก็งอกขึ้นมาใหม่อีก เพราะไม่ได้กำจัดกิเลสคือความอยากเลย
ฉะนั้น จึงควรหันมายึดแนวทางแห่งอริยมรรคในการเจริญภาวนาได้แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงทำได้แล้วจึงนำมาเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รู้และนำไปปฏิบัติตาม และจะให้ผลเร็วในการเจริญภาวนา เพราะมุ่งให้ละกิเลสคือความอยาก หรือบาปอกุศลที่เป็นรากเหง้าของความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อเราได้ภาวนาจนมีสติรู้ปล่อยวางในกิเลส และความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้แล้ว จิตของเราก็จะเกิดเป็นบุญคือความสบายใจ เป็นกุศลคือความผ่องใส มีความสงบและนิ่ง และการภาวนานี้ยังสามารถทำได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวันในเวลาต่างๆ ของการดำรงชีวิตปกติ เพราะจิตของเราจะมีสติเกิดรู้ปล่อยวางในอารมณ์ต่างๆที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้เสมอไม่เกิดยินดียินร้าย พอใจหรือไม่พอใจ จึงทำให้กิเลส ความโลภ โกรธ หลง เบาบางลงได้ และยังตามดูรู้เห็นจิตของตนได้ตลอด
จึงควรมีความเพียรชอบในการภาวนาไว้เสมอว่า “อย่ายินดียินร้าย..อย่าว่าร้ายใคร..อย่าคิดร้ายใคร..” อันเป็นเหตุให้จิตมีสติรู้สกัดกั้นบาปอกุศลไม่ให้เกิดกับจิต จิตของเราก็จะมีแต่ความสงบสุขและนิ่ง และยังทำให้เกิดอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา นี่แหละคือผลของการเจริญภาวนาตามอริยมรรค ดังนี้.
โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง
วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556
ความเป็นมาของวันพระ
วันพระในสมัยพุทธกาล เหล่านักบวชนอกศาสนาได้ประชุมแสดงคำสอนตามความเชื่อของตนทุกวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ เป็นปกติ ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งแคว้นมคธ เกิดความคิดว่า น่าที่เหล่าสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจะได้กระทำเช่นนั้นบ้าง เพื่อความเลื่อมใสศรัทธาของเหล่าชน เฉกช่นที่นักบวชนอกศาสนานั้นได้รับ จึงกราบทูลขอพุทธานุญาตจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงอนุญาตตามนั้น
การประชุมกันของเหล่าสงฆ์ตามพุทธานุญาต ได้มีวิวัฒนาการขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่การมาประชุมแล้วนั่งนิ่ง เริ่มแสดงธรรม ต่อมาทรงอนุญาตให้สวดปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นการทบทวนข้อปฏิบัติที่เป็นวินัยของสงฆ์ในพระพุทธศาสนา พร้อมแสดงอาบัติ คือ เปิดเผยข้อผิดพลาดในวินัยต่อผู้อื่น ให้เป็นกิจกรรมในวันอุโบสถ คือวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ
จากที่สงฆ์ถือปฏิบัติทุกวันอุโบสถ คือ ๓ ครั้งต่อปักษ์ (ปักษ์หนึ่ง = ๒ สัปดาห์) จนกระทั่งท้ายที่สุด ทรงบัญญัติชัดเจนว่า ให้สงฆ์ประชุมกันเพื่อสวดปาฏิโมกข์เพียงปักษ์ละ ๑ ครั้ง คือ ทุก ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ เท่านั้น ซึ่งสงฆ์ได้ถือปฏิบัติมาจนกระทั่งทุกวันนี้ นั่นคือ แม้วันอุโบสถ หรือ วันพระ จะมีทั้งในวัน ๘ ค่ำ และวัน ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำก็จริง แต่ก็ประชุมกันเฉพาะในวัน ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ ตามพุทธานุญาตเท่านั้น
วันขึ้น (แรม) ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ
กำหนดโดยถือการเปลี่ยนแปลงของพระจันทร์ จากเดือนเต็มดวงจนถึงเดือนมืด และกลับเป็นเดือนเต็มดวงอีกครั้ง โดยคืนพระจันทร์เต็มดวงเรียก ขึ้น 15 ค่ำ พระจันทร์ค่อย ๆ ดับนับ แรม ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ ตามลำดับ ถึง ๑๕ ค่ำ เป็นวันพระจันทร์ดับพอดี จากนั้นเริ่มนับขึ้น จากวันขึ้น ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันพระจันทร์เต็มดวงอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันครบรอบ ๑ เดือน
ความสำคัญของวันอุโบสถ
จากพุทธานุญาตให้มีตัวแทนสงฆ์รูปหนึ่งสวดทบทวนสิกขาบท ที่ทรงบัญญัติไว้เป็นระเบียบปฏิบัติ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก และเพื่อความบริสุทธิ์ในเพศสมณะที่ต้องบริบูรณ์ด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นทางหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ตามเส้นทางของพระพุทธศาสนา โดยมีภิกษุผู้สวดทบทวน เมื่อสวดถึงข้อใดแล้วมีภิกษุรูปใดรูปหนึ่งประพฤติผิดข้อบังคับนั้น จะเปิดเผยท่ามกลางที่ประชุม หรือที่เรียกว่า แสดงอาบัติ ซึ่งถือปฏิบัติเช่นี้สืบต่อ ๆ กันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ก่อให้เกิดผลดังนี้ คือ
๑. เกิดความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพระสงฆ์ ด้วยระเบียบปฏิบัติที่หมั่นทบทวน และเตือนตนด้วยการแสดงการยอมรับในสิ่งที่ตนละเมิด เพื่อแก้ไขต่อไป ในข้อนี้มีปรากฎการณ์เด่นชัด เมื่อครั้งพุทธกาล คือ เมื่อครั้งพระภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ทะเลาะเบาะแว้งแตกความสามัคคีกัน ภายหลังเมื่อกลับมีความสามัคคีใหม่ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ประชุมทำอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์เป็นกรณีพิเศษที่เรียกว่า “วันสามัคคีอุโบสถ”
๒. การหมั่นทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พระธรรมคำสอนไม่คลาดเคลื่อน เลือนหาย และทำให้หมู่คณะจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันนี้
วันอุโบสถนั้น นอกเหนือจากเป็นวันสำคัญของทางคณะสงฆ์ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นวันประชุมฟังธรรมของเหล่าพุทธศาสนิกชนตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันนี้ทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาก็จริง แต่ในชีวิตประจำวันแล้ว โลกภายนอกสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนเต็มไปด้วยข้อจำกัดในการกระทำความดีเหล่านั้นให้สมบูรณ์ ดังนั้น วันอุโบสถ จึงเป็นการปรารภเหตุที่จะให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้มีโอกาสหันกลับมาทบทวนการทำดีดังกล่าว โดยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มากขึ้นเป็นพิเศษ
ในส่วนของพุทธศาสนิกชนนั้น การละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส เป็นห้วใจของพระพุทธศาสนา ผ่านการแสดงออกเป็นรูปธรรมด้วยการ
ประเภทของอุโบสถ
การรักษาอุโบสถ…ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเอื้อต่อการเลือกปฏิบัติตามความพร้อมของพุทธศาสนิกชน โดยแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. ปกติอุโบสถ คือ อุโบสถที่รับรักษากันตามปกติเฉพาะวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง
๒. ปฏิชาครอุโบสถ คือ อุโบสถที่รับรักษาเป็นพิเศษกว่าปกติธรรมดา คือ รักษาคราวละ 3 วัน จัดเป็นวันรับวันหนึ่ง วันรักษาวันหนึ่ง และวันส่งอีกวันหนึ่ง
แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ทั้งสองประเภทก็มีขึ้นเพื่อมุ่งให้พุทธศาสนิกชนมีโอกาสรักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ตามหัวใจของพระพุทธศาสนานั่นเอง
ศีลที่นิยมถือในวันอุโบสถ คือ ศีล 8 อันได้แก่
วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556
ความไม่รู้ เป็นเหตุ
ความไม่รู้ เป็นเหตุให้เกิดความนึกคิดปรุงแต่งจิต ให้เกิดทุกข์
ทุกวันนี้มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก ที่อยู่ในโลกแห่งความหลงไม่รู้ตัวคือไม่มีสติ จึงไม่รู้ทันกับสิ่งรับรู้หรือสื่อรับรู้ ที่ผ่านเข้ามากับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ชวนให้รัก,ชักให้ใคร,พาใจให้ไหลหลง, ด้วยความรู้สึกยินดียินร้ายบ้าง,ความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจบ้าง,ความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจบ้าง, ทำให้ไปกระตุ่นความจำในจิตใต้สำนึกให้เกิดการนึกคิดปรุงแต่ง จนทำให้เราเกิดอารมณ์ว้าวุ่นใจ กังวลในใจ มีความขุ่นใจ มีจิตเศร้าหมองเป็นอกุศล ไม่สบายใจเป็นบาป ทำให้โลภบ้าง ทำให้โกรธบ้าง และทำให้หลงไป เป็นทุกข์ใจเกิดขึ้น นี้คือเหตุของความไม่รู้ตัวเพราะไม่มีสติ
ฉะนั้นเราจึงควรที่จะมีการเจริญธัมมะภาวนาอยู่เป็นประจำไว้จะเป็นการดีที่สุด เพราะจะทำให้เราเกิดสติรองรับไม่ให้จิตของเราหลงไปในบาปอกุศล การเจริญธัมมะภาวนาจึงเป็นสิ่งสมควรต่อการดำเนินชีวิตประจำวันจะทำให้เราเกิดมีความรู้ตัว อันเป็นเหตุให้เราเกิดสติรู้สกัดกั้นไม่ให้บาปอกุศลจิตเกิดขึ้น เพราะมีสติรู้ปล่อยวางไม่เกิดยินดียินร้าย ต่อการรับรู้สิ่งต่างๆหรือสื่อต่างๆที่มากับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จิตของเราก็จะเป็นกุศลจิตมีความผ่องใส เป็นบุญคือความสบายใจ มีความสงบสุขและนิ่ง และมีความรู้ตัวต่อสิ่งที่จะกระทำ สิ่งที่จะพูด และสิ่งที่จะคิดเห็น อยู่ในสุจริตธรรม ๓ เพียรภาวนากันไว้ว่า “อย่ายินดียินร้าย.อย่าว่าร้ายใคร.อย่าคิดร้ายใคร.” ให้ได้อย่างน้อยวันละ ๓๐ ครั้ง จะทำให้เราเกิดสติได้ดี มีความสุขสงบมีจิตนิ่งอยู่กับปัจจุบันไม่เกิดทุกข์ ดังนี้.
โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง
ความจริงที่ถูกซ่อนเร้นในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ
หลักการปฏิบัติจิตภาวนา มีผู้สนใจได้เที่ยวไปเสาะหาศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ไปทั่วในจตุรทิศ คือทิศทั้ง ๔ แต่ก็ไม่ค่อยได้ประสบผลสำเร็จต่อการปฏิบัติในจิตภาวนา ที่จะต้องนำมาใช้อยู่กับปัจจุบัน เพราะยังเห็นจิตของตนไม่รู้ปล่อยวางในอารมณ์ คือกิเลสทั้งหลายได้แก่ความอยาก จิตใจยังคงหลงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ อยู่อย่างไม่รู้จางคลายลงได้ จนเกิดความขุ่นมัว เศร้าหมองว้าวุ่น ไม่สงบ เพราะบาปอกุศล ความจริงที่ถูกซ่อนเร้นอยู่และถูกมองข้ามไปเสมอ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในหลักจิตภาวนาที่ได้ถูกบัญญัติไว้ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ
ข้อว่าดำริชอบ ข้อนี้แหละคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ได้ให้ไว้กับชาวพุทธในการเจริญจิตภาวนาเป็นคำสั่งสอนที่ให้เราต้องทำ เพื่อให้มีสติในการระงับบาปอกุศลไม่ให้เกิดขึ้น ที่มีหลายท่านตีความออกมาเป็นการปฏิบัติทางกายกรรม ที่แท้แล้วคือการปฏิบัติทางจิตภาวนาหรือมโนกรรมต่างหาก การดำริชอบที่พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวไว้ให้ดำริชอบ คือมีอยู่ ๓ หัวข้อธรรมได้แก่ ดำริในการออกจากกาม ๑, ดำริในการไม่มุ่งร้าย ๑, ดำริในการไม่เบียดเบียน ๑,
ที่หลวงพ่อได้ถอดความออกมาเป็นธัมมะภาวนาเพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ลองเจริญดูว่า “อย่ายินดียินร้าย.อย่าว่าร้ายใคร.อย่าคิดร้ายใคร.” ลองดำริชอบตามนี้ดูนะ ดำริคือการนึก-คิดไว้ในใจอยู่เสมอๆจัดเป็นความเพียรชอบ จึงเรียกว่าธัมมะภาวนา จนมีสติรู้สกัดกั้นบาปอกุศลไม่ให้เกิดขึ้นในใจของเราอย่างน้อยต้องให้ได้ ๓๐ ครั้งต่อวัน เราจะได้เห็นจิตของเรารู้ปล่อยวางในอารมณ์คือกิเลสได้จริงๆ เราจะเห็นจิตของเราตั้งมั่นอยู่ในความสงบนิ่ง ที่เรียกว่ากัมมัฏฐานได้จริงๆ และเห็นจิตของเรามีความผ่องใสที่เป็นกุศล มีความสบายใจคือเป็นบุญ จนเกิดปัญญารู้ในสภาวธรรมต่างๆได้จริงๆที่เรียกว่าวิปัสสนา อันเกิดจากอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา ดังนี้.
ขอเจริญพร โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
น้ำกับทิฐิ
นานมาแล้วมีชายคนหนึ่งชื่อว่า...ทิฐิ... เขาเป็นคนที่มีนิสัยอวดดื้อถือดีไม่ต่างจากชื่อ เพราะเมื่อได้ลองเชื่อมั่นในสิ่งใดแล้ว ทิฐิคนนี้ก็จะยึดม...
-
มัชฌิมาปฏิปทาในทางพุทธศาสนาหมายถึงทางสายกลาง คือ การไม่ยึดถือสุดทางทั้ง 2 ได้แก่ อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบตนเองให้ลำบากเกิน...
-
อุปสรรคของสมาธิคืออะไร..? อุปสรรคของสมาธิ ได้แก่ นิวรณ์ หมายถึง สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณความดี, ไม่ให้บรรลุสมาธิได้ มี 5 อ...
-
.....พรานคงและคนรุ่นเก่า ๆ ให้สัจจะปฏิญาณว่า ถึงจะล่าสัตว์ก็จริง แต่จะไม่ล่าและฆ่าลิง ค่าง บ่าง ชนี เพราะสัตว์เหล่านี้เมื่อถลก หนังออกแล้ว ม...