การทำให้จิตมีความสงบสุขและนิ่ง

การทำให้จิตมีความสงบสุขและนิ่ง สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน


ชีวิตประจำวันของคนในยุคนี้ มีแต่เรื่องต้องรู้ ต้องเห็นอะไรต่อมิอะไรมากมาย แล้วทำให้จิตเกิดความหวั่นไหวสับสนวุ่นวาย หาความสงบสุขไม่ค่อยได้ เพราะสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ที่ชวนให้รัก, ชักให้ใคร่, พาใจให้ไหลหลง, ทำให้เกิดมีความรู้สึกยินดียินร้ายบ้าง,ความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจบ้าง,ความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจ, ความรู้สึกเหล่านี้เป็นบาปคือความไม่สบายใจ เป็นอกุศลคือความเศร้าหมองใจ จึงหาความสงบสุขและนิ่งได้ยาก เพราะบาปอกุศลคือกิเลสความอยาก เป็นโลภะจิต โทสะจิต และโมหะจิต ที่ทำให้จิตไม่สงบนิ่ง เกิดอัตตาคือความยึดมั่นถือมั่น และอคติคือความลำเอียงมองคนในแง่ร้าย

แต่ถ้าเราอยากให้จิตของเราเกิดความสงบสุขและนิ่ง จึงจำเป็นจะต้องมีความเพียรชอบในการดำริชอบคือการคิดเห็นหัวข้อธรรมะอยู่ในใจไว้เสมอตลอดเวลาของชีวิตประจำวัน หัวข้อธรรมะในการที่จะนำมาดำริชอบคือการคิดเห็นในใจ หรือเป็นธัมมะภาวนาคือ “อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” เพื่อสร้างความรู้ตัวไว้ในจิตใต้สำนึกให้มากๆ อย่างน้อยให้ได้ ๓๐ ครั้งต่อวันเพื่อเป็นเหตุ จะทำให้จิตมีสติรู้สกัดกั้นไม่ให้จิตเกิดบาปอกุศล หรือเป็นจิตรู้ปล่อยวางในอารมณ์โดยอัตโนมัติเป็นผล เมื่อเราได้ฝึกจิตให้มีสติรู้ปล่อยวางในอารมณ์ได้มากๆ จิตของเราก็เกิดความสงบสุขและนิ่งจัดเป็นบุญกุศลจิต(เป็นอธิจิต และเป็นสมถะกรรมฐาน) ก็จะเกิดตาปัญญารู้และเข้าใจในธรรมะต่างๆหรือสภาวธรรมได้(เป็นอธิปัญญา และเป็นวิปัสสนากรรมฐาน)

ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่าเห็นเราพระตถาคต”

การดำริชอบและความเพียรชอบ เป็นองค์ธรรมในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทำตามจนเห็นผลแล้วจึงได้นำมาประกาศสั่งสอนให้ชาวโลกให้ได้รับรู้และทำตามพระพุทธองค์ดังมีกล่าวไว้ในธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร ที่ไม่จำเป็นจะต้องหนีออกจากสังคมเพื่อปฏิบัติธรรม ในชีวิตประจำวันของเราก็สามารถนำเอามาปฏิบัติธรรมใช้ได้ทุกๆคน และเห็นผลได้ทุกๆคน อย่าปฏิเสธว่าทำไม่ได้ ถ้าปฏิเสธเช่นนั้นก็จะไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนาอีกเลยในอนาคต จัดเป็นคนมืดบอดเป็นโมฆะบุรุษกินบุญเก่าหมดไปวันๆ เมื่อเราได้ทำตามแล้วด้วยการดำริชอบและมีความเพียรชอบแล้ว องค์ธรรมอื่นในอริยมรรคก็จะเกิดขึ้นตามมาให้ผลในชีวิตของเรา เช่นการพูดจาชอบ,การทำการงานชอบ,การเลี้ยงชีวิตชอบ,(เป็นอธิศีล) บุญกุศลที่ได้ทำไว้แล้วนี้ จะทำให้มีความเจริญรุ่งเรื่อง มีสุขในชาตินี้ มีสุขในชาติหน้า และสุขอย่างยิ่งคือพระนิพพาน ดังนี้.



โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทางสายกลาง

อุปสรรคของสมาธิ

หลวงปู่มั่นเล่าเรื่องพระธาตุพนม