วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

น้ำกับทิฐิ

นานมาแล้วมีชายคนหนึ่งชื่อว่า...ทิฐิ... เขาเป็นคนที่มีนิสัยอวดดื้อถือดีไม่ต่างจากชื่อ เพราะเมื่อได้ลองเชื่อมั่นในสิ่งใดแล้ว ทิฐิคนนี้ก็จะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นไม่เปลี่ยน และจะไม่ยอมรับฟังข้อคิดเห็นที่ผิดไปจากความเชื่อเดิมโดยเด็ดขาด แม้ว่านี่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนเอาจริงเอาจังและเคร่งครัดกับชีวิต แต่บางครั้งเขาก็ดื้อรั้นมากเกินไปจนขาดเหตุผล และทำให้สูญเสียสิ่งดีๆ ในชีวิตไปมากมาย โดยที่เขาเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน
     เนื่องจากทิฐิไม่ใช่คนร่ำรวย ดังนั้นเขาจึงต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย จนกระทั่งมีฐานะขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว ทิฐิจึงคิดที่จะหยุดพักตัวเองจากการงาน แล้วเดินทางไปเรื่อยๆ เพื่อเที่ยวชมโลกกว้าง
     เมื่อตัดสินใจได้ดังนั้น ทิฐิจึงจัดการฝากบ้านไว้กับญาติพี่น้อง แล้วเก็บสัมภาระออกเดินทางทันที
     ทิฐิเดินทางไปยังที่ต่างๆ ชมนั่นแลนี่ และพูดคุยกับผู้คนที่อยู่ในที่เหล่านั้นมากมาย การท่องโลกกว้างของทิฐิน่าจะทำให้เขามีความรู้ดีๆ หรือเกิดทัศนคติใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อไรก็ตามที่มีคนกล่าวคำซึ่งผิดไปจากความรู้หรือความเชื่อมั่นเดิมของเขา ทิฐิก็จะรีบกล่าวแก่คนคนนั้นทันทีว่า... “นั่นไม่ถูกเลยนะ ที่จริงแล้วมันต้องเป็นดังที่ข้ารู้มาต่างหาก”
     สิ่งนี้เองทำให้การเดินทางไปทั่วโลกของเขา แทบจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดขึ้นในชีวิตของเขาเลย
     จนกระทั่งวันหนึ่ง ทิฐิได้พลัดหลงเข้าไปในดินแดนแห่งทะเลทรายอันแสนแห้งแล้ง และไร้ผู้คนสัญจร เขาหลงทางอยู่ในดินแดนแห่งนั้นสามวันสามคืน จนกระทั่งอาหารและน้ำดื่มร่อยหรอและหมดลงในที่สุด ทิฐิจึงเดินต่อไปไม่ไหว เขาล้มลงนอนบนผืนทรายอย่างคนสิ้นเรี่ยวแรง
     แต่ทิฐิยังไม่อยากตายตอนนี้ ดังนั้นแม้ร่างกายจะอ่อนระโหยโรยแรงขนาดไหน แต่เขาก็รวบรวมพลังใจของตนเฝ้ากล่าวคำภาวนาขอความเมตตาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเหลือเขาด้วย
     “ข้าแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้โปรดเมตตาข้า ผู้ซึ่งไม่เคยเบียดเบียนใคร ขอทรงประทานน้ำมาให้ข้าได้รักษาชีวิตของตนเองไว้ แม้เพียงหนึ่งหยดก็ยังดี”
     แล้วในตอนนั้นเอง ทิฐิก็เห็นชายแปลกหน้าชาวเยอรมันคนหนึ่งเดินตรงมาหาเขา ทิฐิดีใจสุดจะกล่าว แล้วรีบพูดขึ้นทันทีว่า.. “โอ..ท่านผู้เป็นความหวังของข้า โปรดแบ่งน้ำของท่านให้ข้าดื่มด้วยเถิด”
     ชายคนนั้นยื่นถุงหนังสีน้ำตาลในมือของเขาให้แก่ทิฐิ แล้วกล่าวว่า... “นี่คือ วาสซ่าร์ จงดื่มเสียสิ”
     แต่ทิฐิไม่อยากได้วาสซ่าร์ เขาอยากได้น้ำ ดังนั้นเขาจึงปฏิเสธที่จะรับถุงหนังสีน้ำตาลจากชายแปลกหน้าคนนั้น ชายคนนั้นจึงเดินจากไป
     ทิฐิภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง คราวนี้มีชายชาวจีนคนหนึ่งเดินถือถุงหนังสีแดงเข้ามายื่นให้แก่ทิฐิ
     “นี่คือ น้ำใช่หรือไม่”  ทิฐิถามชายชาวจีน
     “นี่คือ ซือจุ้ย จงดื่มเสียสิ” ชายชาวจีนตอบ
     ทิฐิรู้สึกไม่พอใจ ตอนนี้เขากระหายน้ำมากเหลือเกินแล้ว แต่ทำไมชายผู้นี้จึงนำซือจุ้ย มามอบให้แก่เขาเล่า ทิฐิจึงปฏิเสธถุงหนังสีแดงของชายชาวจีน ชายชาวจีนจึงเดินจากไป
     ทิฐิเริ่มภาวนาถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีก และครั้งนี้มีผู้หญิงชาวอินเดียคนหนึ่งมาปรากฏกายตรงหน้าของเขาในแทบจะทันที
     “เธอผู้มีใจเมตตา ขอน้ำให้ข้าดื่มหน่อยเถิด” ทิฐิพึมพำคำอ้อนวอนออกจากริมฝีปากที่แห้งผาก
     “นี่คือ ปานี จงดื่มเสียสิ” หญิงชาวอินเดียกล่าวพร้อมกับยื่นถุงหนังสีเขียวให้แก่ทิฐิ แต่นั่นทำให้ทิฐิโกรธมาก เขารวบรวมเรี่ยวแรงทั้งหมดที่มียกแขนปัดถุงหนังสีเขียวให้พ้นหน้า แล้วพูดอย่างโกรธเคืองว่า
     “ข้าไม่เอาของของเจ้า ข้าจะตายเพราะขาดน้ำอยู่แล้ว ข้าต้องการน้ำเท่านั้น”
     หญิงอินเดียเมื่อได้ฟังดังนั้นก็เดินจากไปอีกคน ทิฐิเฝ้าอ้อนวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่มีใครนำอะไรมายื่นให้เขาอีกแล้ว จิตของทิฐิกำลังหลุดลอยออกจากร่างที่ใกล้แตกดับ แล้วในตอนนั้นเองเสียงเสียงหนึ่งก็ดังแว่วๆ ให้ได้ยินว่า
     “ทิฐิคนถือดีเอ๋ย เราช่วยเจ้าแล้ว แต่เจ้ากลับไม่เคยให้โอกาสตนเองเลย หากเจ้าเปิดใจกว้าง และยอมรับในข้อดีของสิ่งที่ไม่คุ้นเคยเสียบ้าง เจ้าก็คงรู้ว่าสิ่งที่อยู่ในถุงหนังทั้งสามนั้น ต่างก็เป็นน้ำดื่มบริสุทธิ์ทั้งสิ้น”
     เมื่อสิ้นเสียงแว่วนั้น ทิฐิคนถือดีก็สิ้นลมหายใจทันที...

     ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

     เรื่องราวของทิฐินั้น สอนให้เราเปิดตาตนเองให้กว้าง แล้วมองสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยสายตาและหัวใจที่ไร้อคติ หากเราปิดกั้นหัวใจและสายตาไว้ เราก็อาจพลาดสิ่งดีๆ ในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งบางครั้งสิ่งดีๆ เหล่านั้นก็อาจจะไม่หวนกลับมาหาเราอีกแล้วก็เป็นได้

กรรมมีความหมาย 2 นัย

     กรรมมีความหมาย 2 นัย คือ ความหมายในทางโลกและความหมายในทางธรรม
     ทางโลก...หมายถึง การกระทำต่างๆ จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ผู้ทำจะได้รับผลตอบสนองตามเหตุปัจจัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎหมาย วัฒนธรรม จารีตประเพณี ค่านิยม ของแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนความพอใจของแต่ละบุคคล
     ทางธรรม...หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายเจตนาเรียกว่ากรรม..
     ผลของกรรมในทางธรรมที่จะตอบสนองผู้กระทำเรียกว่า..วิบาก
     ส่วน..เวร..ที่มักใช่คู่กับกรรม หมายถึง ความแค้น หรือคิดแก้แค้นผู้ที่ทำร้าย ความผูกใจพยาบาทต่อกัน เช่น จองเวร นอกจากนี้ยังหมายถึง..หนี้กรรม..ที่จะต้องชดใช้ หากใช้ยังไม่หมดเรียกว่า..ยังไม่หมดเวร หากใช้หมดแล้วเรียกว่า..หมดเวร
     ตัวอย่างความแตกต่างระหว่างกรรมทางโลกกับทางธรรมก็คือ...
     สมมติว่า..นายแดงจอดรถยนต์ไว้หน้าบ้านของนายดำ มีลูกหมาที่น่ารักของนายดำนอนอยู่ใต้ท้องรถ โดยที่นายแดงไม่รู้ นายแดงขับรถออกไปทับลูกหมาตายโดยไม่เจตนา ในทางธรรมนายแดงไม่ได้ทำกรรม การกระทำของนายแดงไม่บาป ไม่มีวิบากกรรมที่นายแดงจะต้องชดใช้จากการขับรถทับลูกหมาตาย
     แต่ในทางโลก การกระทำของนายแดงถือว่าเป็นกรรม นายดำซึ่งเป็นเจ้าของลูกหมาโกรธนายแดงมาก นายดำอาจจะต่อว่าด่านายแดง หรือเรียกค่าเสียหายเป็นเงินได้ หากนายแดงไม่ยอม นายดำอาจจะทำร้าย หรือนำเรื่องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย นายแดงจะต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมายแต่ละประเทศ ดังนี้เป็นต้น
     หรืออีกกรณีหนึ่ง นางแม้นเป็นแม่ค้าขายปลา นางแม้นจึงฆ่าปลาอยู่เป็นประจำ กรรมที่นางแม้นทำในทางโลกไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องรับโทษ สังคมก็ไม่ตำหนิ เพราะถือเป็นอาชีพสุจริต
     แต่ในทางธรรม การกระทำของนางแม้นถือว่าเป็นกรรม เป็นบาป ผิดศีลข้อฆ่าสัตว์ วิบากกรรมที่นางแม้นทำ จะตามสนองนางแม้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เป็นผลให้นางแม้นมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ถ้าทุบหัวปลาเป็นประจำนางแม้นจะเป็นโรคปวดหัว หรือถูกทำร้ายที่หัว นอกจากนี้กรรมที่ทำส่งผลให้นางแม้นอายุสั้น มีโรคประจำตัวด้วย
     จะเห็นความแตกต่างระหว่างกรรทางโลก กับทางธรรมได้ชัดเจนด้วยความแตกต่างดังกล่าว จึงทำให้คนบางคนไม่เชื่อเรื่องผลกรรม ที่ว่า..ทำดี-ได้ดี ทำชั่ว-ได้ชั่ว เพราะเข้าใจเรื่องกรรมผิดไป
     เช่นนายขาวเป็นผู้มีอิทธิพล ค้าของเถื่อน คอรัปชั่น การกระทำของนายขาว ผิดทั้งทางโลกและทางธรรม แต่เนื่องจากนายขาวเป็นผู้มีอิทธิพล จึงไม่ถูกกฎหมายลงโทษ นายขาวมีฐานะร่ำรวยเป็นเศรษฐีมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย มีคนนับหน้าถือตาในสังคม คนทั่วไปก็รู้ว่านายขาวค้าของเถื่อน คอรัปชั่น ถึงแม้ในใจจะไม่ชอบนายขาว แต่เมื่อพบหน้านายขาวก็แสดงความเคารพนอบน้อม ยกย่องให้เกียรติตามมารยาท ขณะเดียวกันก็มีความเห็นว่า นายขาวทำชั่วแต่กลับได้ดี ตัวอย่างที่กล่าวมานี้มีอยู่มากมายในสังคมไทย ทำให้คนส่วนหนึ่งไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม กลับเห็นว่า..ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป
     ในทางธรรม นายขาวทำชั่วผิดศีล จะต้องได้รับผลร้ายตอบแทนอย่างแน่นอน เงินที่ได้มาอย่างไม่สุจริตเป็นเงินร้อน จะนำความวิบัติมาสู่นายขาว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นต้นว่า จะทำให้คนในครอบครัวของนายขาวเป็นคนฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ใช้เงินอย่างไม่ประหยัด ลูกนายขาวอาจชอบเที่ยวเตร่ เสเพล เกียจคร้าน ไม่สนใจการเรียน หมกมุ่นในอบายมุข กล่าวโดยสรุปก็คือ..เสียคน ทำให้นายขาวและภรรยาทุกข์ใจ นอกจากนี้ลูกเห็นพ่อโกง ต่อไปลูกก็จะโกง สำหรับตัวนายขาวเองก็จะเข้าสังคมที่ฟุ้งเฟ้อ มีเมียหลายคน เมียหลวงนายขาวก็อาจจะประชดสามี ออกนอกบ้านไปมีชู้ ทำให้ครอบครัวแตกแยกขาดความอบอุ่น มีแต่เรื่องบาดหมางทุกข์ใจ หรือในบั้นปลาย นายขาวอาจจะเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา มีทุกข์มาก เพราะมีชีวิตตกต่ำ มีโรคภัยไข้เจ็บตามมา พฤติกรรมเช่นนี้มีให้เห็นอยู่ไม่น้อยในสังคม
     ยิ่งไปกว่านั้นวิบากกรรมที่ทำไว้ จะส่งผลให้บั้นปลายชีวิตของนายขาว พบกับเรื่องร้ายนานาประการ ผลของกรรมยังตามไปสนองในชาติหน้า นายขาวอาจจะไปเกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน รับเคราะห์กรรมไปนาน เงินทองที่ได้จากการทำชั่ว ใช้อยู่ไม่นานก็หมด เมื่อตายไปก็เอาไปไม่ได้สักสตางค์ แต่จะต้องไปใช้กรรมหนักหนาสาหัสไม่คุ้มกันเลย..

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

     ทำดีกันให้มากๆ นะครับ ตายไปจะพาไปขึ้นสวรรค์จ๊ะ

น้ำกับทิฐิ

นานมาแล้วมีชายคนหนึ่งชื่อว่า...ทิฐิ... เขาเป็นคนที่มีนิสัยอวดดื้อถือดีไม่ต่างจากชื่อ เพราะเมื่อได้ลองเชื่อมั่นในสิ่งใดแล้ว ทิฐิคนนี้ก็จะยึดม...