วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2558

นิทานเซนตอนปัญหารบกวนจิตใจ 3 ประการ

 
    ยังมีแม่ทัพใหญ่ผู้หนึ่ง ในใจมีคำถามที่ขบคิดไม่เข้าใจอยู่ 3 ประการ จึงได้ตัดสินใจปลอมแปลงตนเองด้วยเครื่องแต่งกายของชาวบ้านธรรมดา แล้วออกเดินทางขึ้นเขาเพื่อไปขอให้อาจารย์เซนชี้แจงแถลงคำตอบของปัญหาทั้ง 3 ข้อนี้ต่อเขา

เมื่อแม่ทัพเสาะหาจนพบอาจารย์เซน อาจารย์เซนกำลังขุดดินดายหญ้าอยู่ในแปลงผัก แม่ทัพจึงเป็นฝ่ายเอ่ยขึ้นว่า "ข้ามีปัญหารบกวนจิตใจอยู่ 3 ประการที่ต้องการคำชี้แนะจากท่านอาจารย์"

ข้อแรกคือ เวลาใด ที่สำคัญที่สุด?
ข้อสองคือ ในการร่วมกันทำงานนั้น บุคคลที่สำคัญที่สุดคือใคร?
ข้อสุดท้ายคือ สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรกระทำคืออะไร?

ทว่าอาจารย์เซนไม่เพียงไม่ตอบคำถาม ทั้งยังก้มหน้าก้มตาขุดดินดายหญ้าต่อไป ฝ่ายแม่ทัพเห็นว่าอาจารย์เซนอายุมาก ทั้งยังผอมแห้งแรงน้อย จึงอาสาช่วยขุดดินแทนให้ พร้อมทั้งกล่าวกับอาจารย์เซนว่า "หากท่านอาจารย์ไม่มีคำตอบให้ข้า ขอเพียงเอ่ยปาก ข้าก็จะเดินทางกลับ" ทว่าอาจารย์เซนยังคงเงียบงัน แม่ทัพจึงขุดดินดายหญ้าต่อไปเรื่อยๆ

จากนั้นไม่นาน ปรากฏคนผู้หนึ่งซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสโซซัดโซเซมาถึงเบื้องหน้าคนทั้งสอง จากนั้นจึงสลบไป แม่ทัพจึงรีบประคองคนผู้นั้นไปพักผ่อนยังเพิงหญ้าคาทั้งยังทำแผลให้และคอยเฝ้าดูอาการจนวันรุ่งขึ้น

วันรุ่งขึ้น เมื่อชายผู้ได้รับบาดเจ็บฟื้นขึ้นมาพบหน้ากับแม่ทัพใหญ่ ได้เอ่ยปากขออภัยในทันที ส่วนแม่ทัพกลับไม่ทราบว่าเป็นเรื่องราวใด คนผู้นั้นจึงอธิบายว่า "ในสงครามครั้งหนึ่ง ท่านเคยสังหารน้องชายของข้า บัดนี้เมื่อข้าทราบว่าท่านเดินทางขึ้นเขา จึงสบโอกาสคิดมาลอบสังหารท่าน มิคาดกลับโดนผู้ติดตามของท่านทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส แรกทีเดียวคิดว่าต้องตายแน่นอน แต่สุดท้ายกลับเป็นท่านอีกเช่นกันที่ช่วยชีวิตข้าไว้ ดังนั้นข้าจึงล้มเลิกความคิดฆ่าฟันท่านแล้ว"ความแค้นที่แม่ทัพได้ก่อไว้เมื่อหลายปีก่อน คลี่คลายลงอย่างง่ายดายในลักษณะนี้ จนแม้แต่ตัวแม่ทัพเองยังแทบไม่เชื่อว่าเป็นความจริง

ก่อนที่แม่ทัพจะเดินทางลงจากเขา อาจารย์เซนจึงได้เอ่ยปากกับเขาเป็นครั้งแรกว่า "ปัญหาทั้ง 3 ข้อของท่านคงได้รับการคลี่คลายแล้ว" แต่แม่ทัพยังคงไม่เข้าใจ อาจารย์เซนจึงอธิบายต่อว่า "หากเมื่อวานนี้ท่านไม่ได้อยู่ช่วยข้าขุดดินดายหญ้า แต่ตัดสินใจเดินทางกลับไปก็อาจจะโดนคนผู้นี้ทำร้ายกลางทาง ดังนั้นเวลาที่สำคัญที่สุดก็คือเวลาที่ท่านขุดดินดายหญ้านี้เอง และวานนี้หากท่านไม่ยื่นมือช่วยคนผู้นี้ ท่านกับเขาย่อมไม่อาจเพาะบุญคุณ ลบความแค้น ดังนั้นบุคคลที่ทำคัญที่สุดสำหรับท่านในตอนนี้ก็คือคนผู้นี้เอง และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรกระทำคือการที่ท่านได้ดูแล รักษาอาการบาดเจ็บของเขาจนหายดี...ท่านจงจำไว้ว่า เวลาที่สำคัญที่สุดคือ ปัจจุบัน เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวที่ท่านสามารถควบคุมจัดการได้ ส่วนบุคคลที่สำคัญที่สุดก็คือคนที่อยู่กับท่าน ณ ขณะนั้น และสิ่งที่พึงกระทำมากที่สุดคือทำให้คนที่อยู่ข้างๆ ณ ขณะนั้นเป็นสุข"

ปัญญาเซน : สรรพสิ่งมี "เกิดขึ้น" และ "ดับลง" ในระหว่างการ เกิด-ดับ นั้น มีเพียงสิ่งเดียวที่คงอยู่ คือ ปัจจุบันกาล และเป็นสิ่งเดียวที่สามารถควบคุมจัดการได้ เพื่อให้บรรลุยังเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

นิทานเซนตอนพระผู้เฒ่ากับคนแบกของ


     พระเซนชรารูปหนึ่งในประเทศจีนซึ่งปฏิบัติภาวนาอยู่นานหลายปี ท่านมีจิตดีและกลายเป็นคนสงบเงียบมาก แต่ก็ยังไม่เคยสัมผัสการสิ้นสุดแห่ง "ฉัน" และ "ผู้อื่น" ภายในใจได้อย่างแท้จริง ท่านไม่เคยบรรลุถึงต้นธารความนิ่งหรือศานติที่สมบูรณ์ซึ่งเป็นบ่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ท่านจึงไปขออนุญาตอาจารย์ว่า

"ผมขอออกไปปฏิบัติบนเทือกเขาได้ไหมครับ ผมถือบวชและฝึกฝนมานานหลายปี ไม่ต้องการอื่นใดนอกจากการเข้าใจธรรมชาติแท้ของตนเองและโลก"

อาจารย์รู้ว่าจิตของพระรูปนี้สุกงอมแล้วจึงอนุญาตให้ไปได้ ท่านออกจากวัดโดยมีบาตรและบริขารเพียงเล็กน้อยติดตัว ระหว่างทางได้เดินผ่านเมืองต่าง ๆ หลายเมือง ครั้นออกจากหมู่บ้านสุดท้ายก่อนขึ้นเขา ปรากฏว่ามีชายชราคนหนึ่งเดินสวนทางลงมา ชายคนนั้นมีห่อใหญ่มากเป้ติดหลังมาด้วย (ชายชราผู้นี้แท้จริงแล้วคือพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ซึ่งพุทธศาสนิกชาวจีนเชื่อกันว่าจะมาปรากฏแก่คนที่มีจิตสุกงอมในจังหวะที่เขาจะบรรลุธรรม ภาพของพระมัญชุศรีที่มีการบรรยายไว้มาก มักเป็นภาพพระองค์ถือดาบแห่งปรีชาญาณคมกริบที่สามารถตัดความยึดมั่น มายาคติ และความรู้สึกแบ่งแยกได้หมดสิ้น) ชายชราเอ่ยทักพระว่า

"สหาย ท่านกำลังจะไปไหนหรือ"

พระจึงเล่าเรื่องของตนว่า
"เราปฏิบัติมานานหลายปีแล้ว ตอนนี้สิ่งเดียวที่ต้องการคือการได้สัมผัสจุดศูนย์กลางนั้น คือการรู้สิ่งที่เป็นแก่นแท้แห่งชีวิต บอกเราเถิดผู้เฒ่า ท่านทราบอะไรเกี่ยวกับความรู้แจ้งนี้บ้างไหม"

จังหวะนั้นชายชราเพียงแต่ปลดของที่แบกมาปล่อยให้หล่นลงพื้น แล้วพระก็บรรลุธรรมตามแบบฉบับนิทานเซนที่ดี ความหมายก็คือ เราต้องรู้จักปล่อยวางความทะเยอทะยานและสิ่งที่ยึดมั่นว่าเป็นภารกิจ ปล่อยวางอดีต อนาคต อัตลักษณ์ ความกลัว ทัศนคติ ความรู้สึกแห่งความเป็น "ตัวฉัน" และ "ของฉัน" เสียให้สิ้น

มาถึงจุดนี้ พระเพิ่งบรรลุธรรมมองชายชราอย่างสับสนเล็กน้อยว่าควรทำอย่างไรต่อไป ท่านถามว่า

"แล้วต่อไปล่ะ"

ชายชรายิ้มก่อนก้มลงหยิบห่อของมา เป้ใส่หลังอีกครั้งแล้วเดินเข้าเมืองไป

การจะวางแอกหนักลงได้นั้น ก่อนอื่นเราต้องรับรู้ทุกอย่างที่แบกอยู่ กล่าวคือ เราต้องเห็นความทุกข์โศกของตนเอง เห็นความยึดมั่นและความเจ็บปวด เห็นความที่เราทั้งหลายต่างก็อยู่ในวังวนนี้ และยอมรับการเกิดและการตาย หากเราไม่เผชิญหน้า ถ้าเรากลัวตาย กลัวการยอมระวางและไม่อยากมอง เราไม่อาจเปลื้องความทุกข์โศกไปได้ มีแต่จะผลักไสมันแล้วก็หวนมายึดจับกลับไปกลับมาอยู่เท่านั้นเอง เราจะปลงภาระได้ก็ต่อเมื่อได้เห็นธรรมชาติของชีวิตอย่างตรงไปตรงมาแล้วเท่านั้น ครั้นแล้วด้วยปัญญากรุณา เราก็สามารถหยิบมันขึ้นมาใหม่ เมื่อปล่อยวางแล้ว เราย่อมกระทำ

การต่าง ๆ ในโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือกระทั่งอย่างน่าทึ่ง โดยไม่รู้สึกขมขื่นหรือเกิดความสำคัญตนแต่อย่างใด.

น้ำกับทิฐิ

นานมาแล้วมีชายคนหนึ่งชื่อว่า...ทิฐิ... เขาเป็นคนที่มีนิสัยอวดดื้อถือดีไม่ต่างจากชื่อ เพราะเมื่อได้ลองเชื่อมั่นในสิ่งใดแล้ว ทิฐิคนนี้ก็จะยึดม...