ทุกข์ทั้งหลายมารวมลงที่ใจ มีสติรู้ปล่อยวางเสียได้จะหมดทุกข์
ทุกข์ที่กายมีมากมาย เช่นทุกข์จากความเจ็บไข้ในโรคร้ายต่างๆ ทุกข์เพราะความพิการตั้งแต่เล็ก หรือพิการเพราะอุบัติเหตุต่างๆ และเนื่องด้วยกายกับใจ เช่นความศูนย์เสียบุคคลอันเป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก มีความปารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นๆก็เป็นทุกข์ มีความเกลียดใครก็เป็นทุกข์ มีความอิจฉาริษยาใครก็เป็นทุกข์ มีความรักใคร่ในใครก็เป็นทุกข์ ทุกข์เหล่านี้มารวมลงในใจเป็นความจำได้หมายรู้ หรือจิตใต้สำนึกของเรา ยามใดที่เราได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น ได้รับรส ได้สัมผัสทางกาย และธรรมารมณ์คือเรื่องที่มีอยู่ในใจ การรับรู้กับสิ่งที่มีความคล้ายคลึงกับเรื่องที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ก็จะเกิดความนึกคิดให้เกิดทุกข์ขึ้นมาอีกทุกครั้ง ตรงนี้แหละที่เรียกว่าใจเป็นเหตุ หรือสมุทัย
ถ้าไม่อยากให้เกิดทุกข์อีก จะต้องหมั่นภาวนาไว้เสมอๆในหัวข้อธรรมนี้ว่า “ไม่ยินดียินร้าย...ไม่ว่าร้ายใคร...ไม่คิดร้ายใคร...” เพื่อให้จิตมีความรู้ตัว มีอินทรีย์สังวรรู้ระวังในใจเมื่อได้รับรู้ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ จะทำให้มีสติ ถอนความรู้สึกยินดียินร้ายในโลกออกเสียได้ หรือรู้ปล่อยวางในอารมณ์โลก ถ้ายังมีเรื่องใดที่เรายังไม่อาจปล่อยวางได้ ก็ให้คิดแก้คิดในใจว่า “เรื่องนี้ให้ถอนออกไปเสีย ให้ลบออกไปเสียจากใจ ไม่ควรเอามาคิดอีก” ให้ย้ำคิดย้ำทำเช่นนี้ในใจอย่างนี้ไว้เลื่อยๆ ก็จะทำให้เรามีสติรู้ปล่อยวางได้ ยิ่งรู้มีสติรู้ปล่อยวางได้ ก็จะทำให้จิตมีความสะอาด สว่าง สงบ เป็นจิตที่เย็นและนิ่ง ทุกข์ทั้งหลายก็จะหมดไปจากใจของเรา ดังนี้.
โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง