การทำบุญทำทาน

     
         เมื่อเอ่ยถึงการทำบุญทำทานในยุคนี้ ภาพที่ปรากฏขึ้นมาเป็นภาพแรก ๆ ของสมองคงเป็นภาพของการเข้าวัดทำสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา การทำบุญไถ่ชีวิตโคกระบือ การทำบุญเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า - คนชรา ณ สถานสงเคราะห์ รวมไปถึงการสะเดาะเคราะห์ด้วยการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผ่านพิธีกรรมในรูปแบบต่าง ๆ  

แต่เคยได้ยินไหมคะที่เขาว่าบุญนั้นมีหลายระดับ และหลายรูปแบบ ไม่ได้มีเฉพาะแบบให้ทานเท่านั้น วันนี้ทีมงาน Life & Family จึงขอนำเรื่องของบุญกิริยาวัตถุ 10 (การทำบุญสิบรูปแบบ) มาฝากกัน เพื่อให้การทำบุญของคุณผู้อ่านหลากหลาย และทำได้ง่ายแม้ยามไม่มีคนรับทานด้วยค่ะ

1. บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน (ทานมัย) - การให้ทานมีส่วนประกอบที่ต้องคำนึงถึงคือ จิตใจก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ ของเราปลอดโปร่งที่ได้ให้ โดยสิ่งที่นำมาเป็นทานนั้นบริสุทธิ์ ไม่ได้ลักขโมยคดโกงมา นอกจากนี้ระดับคุณธรรมของผู้รับก็ส่งผลให้ทานที่ทำให้ผลต่างกันไป

2. บุญสำเร็จด้วยการถือศีล (ศีลมัย) - การรักษาศีล หมายความถึงการมีเจตนาจะงดเว้นหรือจะรักษาศีล หากไม่มีเจตนา เพียงแต่ไม่มีโอกาสทำผิดศีลก็ไม่ถือว่ามีศีล ไม่ว่าจะเป็นศีลห้า ศีลแปด หรือศีลกี่ข้อก็ตาม

3. บุญสำเร็จด้วยการภาวนา (ภาวนามัย) - ภาวนา เป็นหลักธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนา หมายถึง การอบรมจิต หรือพัฒนาจิตให้มีคุณภาพสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา คือ การทำใจให้สงบ หรือวิปัสสนาภาวนา คือ การทำใจให้รู้แจ้งเห็นจริงจนตัดกิเลสได้หมด

4. บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อมน้อม (อปจจายนมัย) - การอ่อนน้อมถ่อมตน จัดเป็นบุญประการหนึ่ง เพราะจิตไม่แข็งกระด้าง แต่ต้องอ่อนน้อมต่อบุคคลที่ควรอ่อนน้อม ได้แก่ คนที่อายุมากกว่าเรา คนที่มีชาติกำเนิดสูงกว่าเรา และคนที่มีคุณธรรมสูงกว่าเรา

5. บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่น (เวยยาวัจจมัย) – ช่วยในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น หรือต่อส่วนรวม อาทิ ช่วยเหลือคนเจ็บป่วย แม้แต่ช่วยนำคนแก่ข้ามถนนให้ปลอดภัย หรือชี้ทางให้แก่คนหลงทางก็จัดเป็นเวยยาวัจจมัยทั้งสิ้น

6. บุญสำเร็จด้วยการเฉลี่ยส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) - เมื่อทำบุญอันใดแล้วก็อุทิศส่วนบุญนั้นแก่ผู้มีพระคุณ หรือแก่ผู้อื่น สัตว์อื่น จะทำให้ได้รับผลบุญเพิ่มขึ้น เป็นการแสดงออกถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จะทำโดยการอุทิศส่วนกุศลแก่คนที่ล่วงลับไปแล้ว หรือบอกเล่าให้คนรอบตัวได้อนุโมทนาบุญไปด้วยก็ได้

7. บุญสำเร็จด้วยการยินดีในบุญของผู้อื่น (ปัตตานุโมทนามัย) – เมื่อได้ยินได้ฟัง หรือได้เห็นผู้อื่นทำบุญ ทำความดีก็พลอยปลื้มใจยินดีในบุญที่เขากระทำด้วยจิตอันบริสุทธิ์ เท่านี้ก็เป็นบุญแล้ว

8. บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) – การฟังธรรมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการไปฟังพระเทศน์เท่านั้น แต่การอ่านหนังสือ ฟังเทป ดูโทรทัศน์เกี่ยวกับเรื่องธรรมะก็เข้าพวก เพราะทำให้เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ เนื่องจากผู้ที่เป็นสาวกนั้นจำเป็นจะต้องฟังธรรม มิฉะนั้นจะไม่มีทางเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าและบรรลุมรรคผลได้

9. บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) - การแสดงธรรมจัดเป็นทานอย่างหนึ่ง เรียกว่าธรรมทาน เป็นทานที่มีผลมากกว่าทานทั้งปวง ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้พระธรรมชนะการให้ทั้งปวง” บุญอันเกิดจากการแสดงธรรมนั้น ไม่ใช่การพูดอย่างเดียว แม้การเขียนหนังสือธรรมะ การพิมพ์หนังสือธรรมะ หรือการให้ทุนในการพิมพ์หนังสือธรรมะออกเผยแพร่ก็จัดเข้าในบุญข้อนี้ทั้งสิ้น

10.บุญสำเร็จด้วยการปรับความเห็นให้ตรง (ทิฎฐุชุกัมม์) – ได้แก่ การเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น แม้ผู้นั้นยังไม่ทำดีด้วยกาย หรือว่าไม่ทำดีด้วยกาย หรือวาจา เป็นเพียงแต่เห็นถูก เห็นตรงเท่านั้น ก็จัดเป็นบุญ และเป็นบุญที่ครอบคลุมบุญอื่นทั้งหมด เพราะเมื่อคนเราเห็นถูกเห็นตรงเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ก็ย่อมทำบุญประเภทอื่นๆ ด้วยความสนิทใจและตั้งใจทำ

จะเห็นได้ว่าการทำบุญในพระพุทธศาสนาเลือกปฎิบัติได้หลากหลาย สามารถทำได้ตามกำลังและความสามารถของตน แม้คนยากจนไม่มีเงินทองเลยก็สามารถทำบุญได้ หากผู้นั้นตั้งใจจริง เพราะบุญไม่ใช่เพียงให้ทานอย่างเดียว ยังมีอีกถึง 9 ข้อที่ไม่ต้องใช้เงินทอง และมีอยู่หลายอย่างที่มีผลมากกว่าการให้ทาน นอกจากนี้บุญทุกประเภทจะนำมาซึ่งความสุข ความสงบ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ปุญฺญานิ กยิราถ สุขาวหานิ.บุคคลพึงทำบุญทั้งหลายไว้เถิด ซึ่งจะนำสุขมาให้"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทางสายกลาง

อุปสรรคของสมาธิ

หลวงปู่มั่นเล่าเรื่องพระธาตุพนม